อีลอน มัสก์ ทรงอิทธิพลถึงขั้นบรรดาผู้นำโลกรวมทั้งนายกฯ เศรษฐาอยากคุยด้วย

22 ก.ย. 2566 - 03:44

  • ช่วงนี้บรรดาผู้นำประเทศหลายคนที่เดินทางไปสหรัฐฯ รวมทั้งผู้นำที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของทำเนียบขาวต่างก็จัดตารางเวลาสำหรับการนั่งจับเข่าพูดคุยกับ อีลอน มัสก์ แห่งเทสลาและเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)

why-world-leaders-want-to-talk-to-elon-musk-SPACEBAR-Hero.jpg

ช่วงนี้บรรดาผู้นำประเทศหลายคนที่เดินทางไปสหรัฐฯ รวมทั้งผู้นำที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของทำเนียบขาวต่างก็จัดตารางเวลาสำหรับการนั่งจับเข่าพูดคุยกับ อีลอน มัสก์ แห่งเทสลาและเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)

ปีนี้มัสก์ซึ่งเป็นบุคคลที่มั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็เนื้อหอมสุดๆ ทั้งผู้นำของฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย เกาหลีใต้ และเมื่อเร็วๆ นี้คือ ตุรกีและอิสราเอล ต่างก็พบปะกับมัสก์มาแล้ว รวมทั้งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ของไทยที่เพิ่งคุยกับมัสก์ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

ทว่าแม้จะเป็นนักธุรกิจที่ผู้นำต่างประเทศต้องการพบมากที่สุด แต่กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับตรงกันข้าม และดูเหมือนว่ายิ่งมัสก์แตะประเด็นเรื่องการเมืองมากเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่อ่อนไหว ก็ยิ่งมีคนกังวลใจเกี่ยวกับอำนาจและการเข้าถึงของมัสก์มากขึ้น

มัสก์พบปะผู้นำโลก

ผู้นำบางประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากการสร้างโรงงานใหม่ของเทสลา หรือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ (Starlink) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) หรือบางคนก็พูดคุยเกี่ยวกับแอปพลิเคชันเอ็กซ์และอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดี เอ็มมานูอล มาครง ของฝรั่งเศส พบปะพูดคุยกับมัสก์ถึง 3 ครั้งโดยหวังจะให้เทสลาเข้าไปตั้งโรงงานขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี จิออร์เจีย เมโลนี ของอิตาลี และประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ของตุรกีที่เพิ่งบินไปพบมัสก์นิวยอร์กเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ที่บินไปแคลิฟอร์เนียเพื่อคุยกับมัสก์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

อิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าการพบปะหารือเหล่านี้หลายครั้งจะเน้นไปที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่สำคัญของมัสก์อย่างเห็นได้ชัด แต่การประชุมเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่มัสก์ใช้และแสดงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีอิทธิพลเหนือภูมิรัฐศาสตร์โลก

การแสดงความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ของมัสก์ถูกบางฝ่ายตีความว่าเป็นการดูแคลนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ รวมทั้งชาติตะวันตกอื่นๆ ด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมัสก์สร้างความไม่พอใจให้ไต้หวันหลังจากเอ่ยปากถึงนโยบายจีนเดียวของจีน โดยบอกว่าไต้หวัน “คล้ายกับฮาวาย หรือที่อื่นในทำนองเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของจีนซึ่งบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยพลการ” จนทางการไต้หวันโต้กลับว่า “ฟังนะ ไต้หวันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน และแน่นอนว่าไม่ได้มีไว้ขาย!”

กรณีดังกล่าวยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้ข้ออ้างของคนที่ไม่พอใจมัสก์อยู่แล้วที่บอกว่าเขายอมทำตามคำสั่งของประเทศอื่นง่ายเกินไป แม้ว่าประเทศนั้นๆ จะเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ ก็ตาม

นอกจากนี้ เอียน เบรมเมอร์ นักรัฐศาสตร์ ยังเคยพูดถึงมัสก์ไว้ในเอ็กซ์ว่า “อีลอน มัสก์ บอกผมว่าเขาเคยคุยกับปูตินและเครมลินโดยตรงเกี่ยวกับยูเครน เขายังบอกผมด้วยว่าเส้นตายของเครมลินอยู่ตรงไหน” ก่อนที่ต่อมามัสก์จะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ 

ในเดือนถัดมา เมื่อถูกถามว่ามัสก์เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือไม่ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ตอบว่า “ความร่วมมือและ/หรือความสัมพันธ์ทางเทคนิคของมัสก์กับประเทศอื่นๆ ควรถูกตรวจสอบ”

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงยอดของภูขาน้ำแข็งในความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีเท่านั้น ดูเหมือนว่าทำเนียบขาวก็เลี่ยงที่จะเอ่ยถึงเทสลาในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าด้วย แล้วหันไปพูดถึงผู้ผลิตรถยนต์ที่มีสหภาพแรงงานแทน 

ส่วนมัสก์ก็ยุ่งอยู่กับการทวีตเกี่ยวกับพรรคเดโมแครตของไบเดนว่าไม่สามารถสนับสนุนพรรคได้อีกต่อไป แล้วหันไปจีบผู้เสนอตัวเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันแทน

แอชลี แวนซ์ ผู้เขียนชีวประวัติของมัสก์ที่ตามติดมัสก์มากว่าทศวรรษแย้งว่า มัสก์รู้สึกคับข้องใจมาตลอด แวนซ์เผยกับ BBC ว่า“นี่คือผู้ชายที่ชอบทำให้อะไรหลายๆ อย่างสำเร็จ เขาคิดว่าเขาถูก และเขาไม่ชอบให้มันเป็นเรื่องยาก เขาคือไพ่เด็ดขาดนี้ แต่รัฐบาลไบเดนกลับราดน้ำมันลงในกองไฟ และตอนนี้พวกเขาก็ไม่มีเจตนาดีที่พยายามควบคุมเขา (มัสก์) ไว้”

มัสก์เปลี่ยนภาพลักษณ์

ความสำเร็จแบบถล่มทลายของทั้งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ช่วยเปลี่ยนมัส์จากนักประดิษฐ์หัวกะทิให้กลายเป็นเซเลบริตี้คนดัง ทว่าความมั่งคั่งที่เพิ่มพูนขึ้นและพัฒนาการทางการเมืองของมัสก์ตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมาได้เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ที่แตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งขับเคลื่อนโดยเอ็กซ์ที่มัสก์มักจะออนไลน์อยู่ตลอดและมีความเกรียนพอตัว

แวนซ์เผยอีกว่า “เขาเป็นผู้ชายที่มั่นใจในความคิดห็นของตัวเองต่อสิ่งต่างๆ เสมอและไม่กลัวที่จะแสดงออกมา เขาเคยอยู่ทั้งสองฝั่งเพื่อประโยชน์ของบริษัทตัวเอง เขาเคยเป็นคนมีระเบียบแบบแผน ไม่พูดเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป และทุกครั้งที่เขาพูดถึงการเมือง มันจะเกี่ยวข้องกับประเด็นอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

นอกจากนี้แวนซ์ยังเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2017 หรือ 2018 มหาเศรษฐีเชื้อสายแอฟริกาใต้รายนี้ก็ทำให้ภาพลักษณ์ในที่สาธารณะของตัวเองดูไม่ค่อยดี “เขาพูดทุกอย่างที่อยู่ในใจ เขาทำตัวห่างเหินกับผู้คนโดยไม่มีเหตุผล เขาทำลายตัวเองในช่วงเวลาที่บริษัทของเขาไปได้ดีมากๆ โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ใช่คาแรกตอร์ของทวิตเตอร์เลย เมื่อเวลาผ่านไป เขาเข้ากับคนง่ายมากขึ้น เขามีเหตุผลและน่าสนใจมาก และเขาก็เป็นคนที่แตกต่างมาก”

ทว่า โนม โคเฮน อดีตคอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยีของ New York Times มองมัสก์ต่างออกไป โคเฮนเชื่อว่าความทะเยอทะยานและวิสัยทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของมัสก์ทำให้เขาประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ และเป็นกองกำลัง "กึ่งรัฐบาล มัสก์ได้รวม ‘โลกจริง’ อย่างโรงงานขนาดใหญ่ ลูกจ้างจำนวนมาก และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เข้ากับ ‘โลกดิจิทัล’ นั่นก็คือ การควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ไว้ด้วยกัน" ซึ่งโคเฮนบอกว่ายังไม่มีมหาเศรษฐีเทคคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือเจฟฟ์ เบโซส ทำได้

โคเฮนเผยอีกว่า “ถ้าเขาไม่ซื้อทวิตเตอร์เราจะพูดถึงเขามั้ย หากเขาเป็นเพียงบริษัทข้ามชาติมันจะปกติมากว่า หากเขาต้องการโรงงานในจีน เขาก็ไปพบกับจีน” และว่า ถึงอย่างนั้นมัสก์ก็ตกหลุมพรางเดียวกับเพื่อนๆ ในซิลิคอนแวลลีย์ “พวกเขามักจะมองโลกในแบบเดียวกันคือ คุณทำเพื่อตัวเอง ไม่มีโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม คุณต้องทำงานหนัก และคนที่ดีที่สุดได้ก้าวไปอยู่แถวหน้า”

โคเฮนเผยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ามัสก์และคนที่มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถตัดสินใจฝ่ายเดียวโดยมีผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ถือเป็นคำเตือนเกี่ยวกับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและประชาธิปไตยที่เสื่อมถอย

“การที่เขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเปิดดาวเทียมหรือไม่เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไหม การที่เขาสามารถกำหนดทิศทางความคิดเห็นของสาธารณชนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไหม แค่คุณเก่งเรื่องการเขียนโปรแกรมหรือธุรกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเก่งในการออกกฎว่าโลกจะเป็นไปอย่างไร”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์