การทูตไทยเข้าหลังบ้านสีจิ้นผิง และอิทธิพลลับของเผิงลี่หยวน

22 พฤศจิกายน 2565 - 04:55

wife-diplomacy-and-the-hidden-power-of-pengliyuan-SPACEBAR-Thumbnail
  • ย้อนกลับไปมองการต้อนรับ เผิงลี่หยวน ที่ไม่ธรรมดาของรัฐบาลไทย

  • สิ่งที่หลายคนไม่รู้เกี่ยวกับภริยาคู่ชีวิตของ สีจิ้นผิง ที่เป็นมากกว่านักร้องดัง

ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดต้อนรับ สีจิ้นผิง ผู้นำจีนพร้อมกับ เผิงลี่หยวน ภรรยา มีเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจอย่างยิ่งให้กับแขกผู้มีเกียรติของรัฐบาลไทย นั่นคือการมอบเค้กวันเกิดเซอร์ไพรส์สตรีหมายเลข 1 ของจีน ซึ่งมีวันคล้ายวันเกิด 20 พฤศจิกายน (เกิด พ.ศ. 2505) 

เซอร์ไพรส์หลังบ้านผู้นำจีนครั้งนี้ยังไม่ถูกรายงานในสื่อจีนหรือโซเชียลมีเดียจีนในทันที เพราะอาจจะต้องผ่านการกลั่นกรองให้เป็นรายงานข่าวที่ทางการมากๆ ตามแบบฉบับข่าวเกี่ยวกับผู้นำจีนที่ผ่านมาที่จะไม่เน้นข่าวเสนอมุมทีเล่นทีจริง  

แต่มันเป็นข่าวที่ถูกรายงานในสื่อภาษาจีนทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งขึ้นชื่อเรื่อง ‘โปรจีน’) และสื่อในฮ่องกง (โดยเฉพาะสายโปรจีน) และรวมถึงสื่อในใต้หวัน เช่น United Daily News ซึ่งเป็นสื่อของสายพรรคก๊กมินตั๋ง (ที่ถูกมองว่าโปรจีน แต่ที่จริงคือค่อนข้างประนีประนอมกับจีนมากกว่า) 

สื่อภาษาจีนเหล่านี้ ไม่ว่าจะโปรจีนหรือไม่ก็ตาม รายงานตรงกันว่า สีจิ้นผิง แสดงท่าทีพึงพอใจด้วยการปรบมือแสดงความยินดี เช่น สำนักช่าวซินจิว (Sin Chew Daily) ของมาเลเซียรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความผ่อนคลายและสบายๆ ‘สีจิ้นผิง กับ เผิงลี่หยวน ลุกขึ้นยืนแล้วยิ้ม ดูแล้วมีความสุขมาก’

ทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อภาษาจีนเหล่านี้ออกไปในทางที่ผู้นำจีนค่อนข้างปลื้มกับการสร้างความประทับใจของเจ้าภาพ ส่วน สีจิ้นผิง กับ เผิงลี่หยวน จะคิดอย่างไรนั้น เราคงไม่มีทางล่วงรู้ได้ 

แต่สิ่งที่ควรค่ากับการกล่าวถึงคือการรับรองของฝ่ายไทยที่มีลูกเล่นที่คาดไม่ถึงแบบนี้ ซึ่งมันอาจมองได้ว่าเป็นการเอาอกเอาใจแขกบ้านแขกเมืองตามปกติ (เหมือนร้านอาหารจะคอยสืบว่าลูกค้าคนสำคัญมีวันเกิดวันไหนเพื่อจะได้จัดเค้กเซอร์ไพรส์) แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็ยการทูตแบบเข้าหลังบ้านได้เหมือนกัน  

การทูตแบบเข้าหลังบ้านคืออะไร? 

‘หลังบ้าน’ ในที่นี้หมายถึงคู่สมรสของผู้นำหรือนักการทูต ตามปกติคู่สมรสของนักการทูตจะมีบทบาทของตัวเองซึ่งจะไม่ค่อยปะปนกับหน้าที่ของผู้นำคนนั้นๆ แต่ในวิถีชีวิตปกติ คู่สมรสย่อมจะมอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของอีกฝ่ายไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากประเทศหนึ่งคิดว่าการเจรจาซึ่งๆ หน้ากับผู้นำของอีกประเทศ พวกเขาก็อาจเข้าหาคู่สมรสด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สร้างความประทับใจแบบไม่คาดฝัน 

การทูตแบบหลังบ้านอาจไม่ใช่คำที่เป็นทางการนัก แต่มันมีอยู่จริง และสื่อของรัฐบาลจีนเองนั่นแหละที่ใช้คำนี้ นั่นคือ ‘การทูตของภริยา’ (Wife Diplomacy) เหมือนจะเป็นการยอมรับกลายๆ ว่า หากจะเข้าถึงผู้นำจีนก็ควรจะเข้าหาทางหลังบ้านด้วย  

ในบทความของ Global Times สื่อของรัฐบาลจีนเมื่อปี 2557 ที่ว่าด้วยการทูตเข้าหลังบ้าน บอกว่า “ภริยาของผู้นำระดับสูงของจีนกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบทบาททางการทูตมากกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของประเทศ แม้ว่าผู้หญิงจะไม่ค่อยเข้าร่วมพิธีการทางการทูตในช่วงปีแรกๆ ของ (การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน) แต่ในไม่ช้า บรรดาเจ้าหน้าที่ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของคู่สมรสในทางการทูต” 

บทความนี้ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นในทางการทูตของ เผิงลี่หยวน ว่าเป็น “ผู้ผลักดันกระแสใหม่ของสิ่งที่สื่อมวลชนเรียกขานว่า การทูตของภริยา” 

คำถามก็คือ ภริยาผู้นำเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของสามีหรือต่อผลต่อนโยบายระหว่างประเทศแค่ไหน? 

คำตอบขึ้นอยู่กับว่าภริยาของผู้นำคนนั้นมีความเป็น ‘คู่ทุกข์คู่ยาก’ ของผู้นำคนนั้นมากแค่ไหน 

ในหนังสือ Xi Jinping: Red China, The Next Generation ของ Agnès Andrésy มีอยู่ตอนหนึ่ง (ชื่อตอนว่า ‘การทูตของคู่สมรส’) ที่เล่าถึงบทบาทของ เผิงลี่หยวน ต่อหน้าที่ทางการเมืองของ สีจิ้นผิง และในทางกลับกันก็บอกเล่าถึงการที่ สีจิ้นผิง อาศัยภรรยาของเขาเมื่อเสริมบทบาททางการเมือง  

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า เผิงลี่หยวน เป็นนักร้องระดับชาติของจีน มีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อนหน้าสามี แต่ไม่ใช่นักร้องธรรมดาๆ เพราะครอบครัวของเธอเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ความดังและพื้นเพทางการเมืองของ เผิงลี่หยวน จึงเป็นตัวช่วยอย่างดีให้กับสามี 

เช่น ตอนที่ สีจิ้นผิง เป็นผู้บริหารมณฑลฝูเจี้ยน เมื่อปี 2001 เขาต้องรับรอง หลี่เผิง นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นที่เดินทางมาเยือนฝูเจี้ยน ในงานนั้น สีจิ้นผิง ขอแรง เผิงลี่หยวน ให้ช่วยเทคแคร์ภริยาและลูกสาวของ หลี่เผิง และในงานเลี้ยงรับรอง เผิงลี่หยวน ยังจับไมค์ร้องเพลงขับกล่อมแขกผู้มีเกียรติด้วยตัวเอง ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับ หลี่เผิง เป็นอันมาก  

นับแต่นั้นมา หลี่เผิง ไม่เคยหยุดชื่นชม สีจิ้นผิง และเขายังเป็นหนึ่งในแกนนำพรรครุ่นเดิมที่ผลักดันให้ สีจิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำพรรครุ่นที่ 5 ในการประชุมพรรคเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นการปูทางให้ สีจิ้นผิง ก้าวขึ้นมาสู่ ‘ทำเนียบจงหนานไห่’ ในที่สุด 

ตอนที่ สีจิ้นผิง เพิ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีในปี 2008 ตอนนั้นคนนอกวงการการเมืองแทบไม่มีใครรู้จักเขา และรู้จักเขาในฐานะ ‘สามีของเผิงลี่หยวน’ จนกระทั่งในเวลาต่อมาคนค่อยๆ จะจำเขาได้ว่าเป็น ‘สีจิ้นผิง’ ไม่ใช่สามีของนักร้องแห่งชาติ 

แต่อิทธิพลของ เผิงลี่หยวน ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะความที่เธอเป็นนักร้องระดับชาติ (ภายใต้สังกัดของพรรค) ทำให้เธอมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มการเมืองสายวัฒนธรรม (Culture Clique) และกลุ่มนี้ยังเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน หรือกลุ่มเซี่ยงไฮ้ (Shanghai faction) ความสนิทสนิมระหว่าง เผิงลี่หยวน กับแกนนำกลุ่มเหล่านี้นี่แหละที่ช่วยกลุ่มเหล่านี้ยอมเปิดทางให้ สีจิ้นผิง ก้าวขึ้นมาถึงตำแหน่งสูงสุดของประเทศได้ในปี 2555 

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการเข้าหลังบ้านผู้นำจีน เป็นวิถีการทูตที่มีประสิทธิภาพมากเพียงใด โดยเฉพาะกับ เผิงลี่หยวน ที่มีบทบาทช่วยเสริมบารมีของสามีในเวทีการเมืองมาโดยตลอด  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์