มินอ่องหล่ายจะลาออกไหม? หลังรัฐบาลทหารเจอวิกฤตถูกกดดันจากพันธมิตรตัวเอง

23 ม.ค. 2567 - 08:25

  • รัฐบาลทหารของมินอ่องหล่ายเจอศึกหนักไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายใน การแปรพักตร์ ความพ่ายแพ้ต่อกลุ่มกบฏครั้งใหญ่ทางตอนเหนือ

  • มินอ่องหล่ายกำลังถูกตราหน้าว่า ‘ไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง’ และขาดกำลังสนับสนุน ท่ามกล่างแรงกดดันจากพันธมิตรให้ ‘ลาออก’

will-the-myanmar-junta-boss-step-down-all-sides-want-him-gone-SPACEBAR-Hero.jpg

ในเวลานี้กองทัพเมียนมากำลังประสบปัญหาหนักไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายใน การแปรพักตร์ หรือแม้แต่ผู้นำรัฐบาลทหาร มินอ่องหล่าย ก็เผชิญกับเสียงเรียกร้องให้ลาออกมากขึ้น ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่แค่จากฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ยังมาจากพันธมิตรของเขาเองด้วย 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? 

รัฐประหารภายในกองทัพ? 

ความพยายามของมินอ่องหล่ายที่จะเป็นผู้นำกองทัพและบริหารประเทศในช่วง 3 ปีนับตั้งแต่รัฐประหารถูกมองว่า ‘ไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง’ “การกำจัดมินอ่องหล่ายคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ เขาและพรรคพวกทั้งหมดต้องออกไป” นักวิเคราะห์กล่าว ทว่าใครจะเข้ามารับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่รัฐบาลทหารก่อขึ้นจนถึงตอนนี้ล่ะ?

แต่ถ้ามีการรัฐประหารขึ้นมาจะเป็นอย่างไร? รัฐประหารจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง หรือจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มหัวรุนแรง?

ความพ่ายแพ้อันน่าอัปยศทางตอนเหนือของรัฐฉาน และการสูญเสียกองกำลังทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ทหารชั้นยศ โดยอดีตเจ้าหน้าที่ทหารได้โพสต์ความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียยืนกรานว่า “ผู้บัญชาการที่ยอมจำนนต่อกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ควรได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง” 

ในเมืองเนปยีดอ นายพลจัตวา 6 นายซึ่งยอมจำนนทางตอนเหนือของรัฐฉานได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ครอบครัวของเจ้าหน้าที่และทหารอยู่ภายใต้ความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับการข่มขู่ว่าจะถูกลงโทษจากผู้บังคับบัญชา 

ส่วนกองกำลังแนวหน้าในรัฐยะไข่ รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะเรนนี (กะยา) ถูกแบ่งแยกว่าจะสู้รบ คงความเป็นกลาง หรือประนีประนอม นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จำนวนมากได้ย้ายไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและอินเดียอย่างเงียบๆ

เมื่อเห็นความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกของรัฐบาลในหลายด้าน พันธมิตรรัฐบาลจึงเรียกร้องให้มินอ่องหล่ายลาออกจากตำแหน่งมากขึ้น

สัปดาห์ที่แล้ว พระอาชิน อารวันธา หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ปึกโกตอ’ พระภิกษุผู้คลั่งไคล้ชาตินิยมรูปหนึ่งที่ช่วยจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธสนับสนุนรัฐบาลทหารได้ถูกทางการควบคุมตัวและสอบสวนแต่ได้รับปล่อยตัวแล้วเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) หลังจากที่พระอาชินร่วมเรียกร้องให้มินอ่องหล่ายลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ทางทหารอันน่าอัปยศ และควรมอบอำนาจการควบคุมให้กับรองพล.อ.โซวิน 

ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนรัฐบาลก็แสดงความโกรธเคืองมินอ่องหล่ายด้วยการโพสต์แสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง เช่น ยูทูบ และเฟซบุ๊ก เป็นต้น 

“เขาไร้ความสามารถ เห็นแก่ตัว เขาเป็นผู้นำทหารที่อยู่ยงคงกระพันในสภาวะแห่งความอับอายและความสิ้นหวัง” “ 3 ปีก็เพียงพอแล้วสำหรับมินอ่องหล่าย” “เขากำลังประสบปัญหาหนัก เขาจะลาออกไหม? เขาจะยอมให้โซวินรับช่วงต่อไหม?”

อย่างไรก็ดี คนวงในหลายคนต่างก็บอกว่าทั้งมินอ่องหล่ายและโซวินไม่ค่อยเข้ากันดีนัก ท่ามกลางวิกฤติของรัฐบาลทหารและการสูญเสียกองกำลังแนวหน้า ก็มีข่าวลือว่าทั้งคู่ถกกันอย่างดุเดือดในประเด็นความสูญเสียและความล้มเหลว  

ทว่าเสียงเรียกร้องที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นเนื่องจากการขยายระยะเวลาสถานะทางกฎหมายของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของรัฐบาลพม่า 6 เดือนนั้นมีกำหนดจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคมนี้ 

เพื่อขยายระยะเวลา 6 เดือน รัฐบาลจะต้องเรียกประชุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) แม้ว่ารักษาการประธานาธิบดีมินต์ส่วยป่วยหนัก แต่มินอ่องหล่ายจะทำทุกอย่างเพื่อจัดการประชุม NDSC ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มีตัวเลือกหรือสถานการณ์ที่เป็นไปได้บางประการสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไป  

  • ประการแรกคือ ‘ให้รัฐบาลทหารอนุมัติการขยายเวลาออกไปอีก’ จากนั้นกองกำลังฝ่ายค้านจะตอบโต้ด้วยการรุกฝ่ายรัฐบาลทหารอีก 
  • ประการที่สองคือ ‘การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่’ นักวิเคราะห์บางคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่ากล่าวว่า “สิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่มินอ่องหล่ายมอบตำแหน่งนายกฯ ในปัจจุบันให้กับ 1 ใน 2 รองนายกฯ ได้แก่ ‘ทินอองซาน’ และ ‘เมียตุนอู’ ในขณะที่เขาก็ยังคงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพและประธานระบอบการปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่ทำให้ใครพอใจ เนื่องจากรองนายกฯ ทินอองซานเป็นพลเรือเอกและรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาล ในขณะที่รองนายกฯ เมียตุนอูเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเขาเป็นคนโปรดของ ‘ต้านชเว’ อดีตผู้นำเผด็จการ 
  • ประการที่สามคือ ‘การที่ระบอบการปกครองยอมให้นักการเมืองพลเรือนที่น่าเชื่อถือจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวได้’ องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์บางองค์กรที่ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารบอกเมื่อเร็วๆ นี้ว่ารัฐบาลทหารอนุญาตให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้

แล้วความคิดเห็นของจีนและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของเมียนมาล่ะ?

มีการคาดเดากันในหมู่กองกำลังฝ่ายค้านว่าจีนต้องการให้มินอ่องหล่ายลาออกและมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น 

ในระหว่างการเยือนครั้งล่าสุด มีรายงานว่า “ซุนเว่ยตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้พบกับต้านชเว อดีตเผด็จการที่บ้านพักของเขา (มีรายงานว่าจีนยังได้ขอเข้าพบอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งถูกควบคุมตัว แต่คำขอถูกปฏิเสธ) นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหารที่เจ้าหน้าที่จีนพยายามพบกับต้านชเว เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนจากประเทศจีนได้พบกับเขาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดข่าวลือและการคาดเดาเกี่ยวกับอิทธิพลที่ยังมีอยู่ของเขาเหนือผู้นำรัฐประหารและ SAC” 

และคำถามในตอนนี้ก็คือ ‘ใครยังอยากให้มินอ่องหล่ายอยู่ในอำนาจต่อไป? 

AFP / POOL / Alexander Zemlianichenko

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์