ไขความลับ ‘Work Life Balance’ ที่ทำให้ฟินแลนด์ ‘มีความสุขที่สุดในโลก’ 7 ปีซ้อน

24 มีนาคม 2567 - 00:00

work-life-balance-one-of-reason-finland-happiest-country-for-7th-year-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ส่องโมเดล ‘Work Life Balance’ ของฟินแลนด์ สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตแบบใดที่พลเมืองแฮปปี้สุดๆ

  • หนึ่งในปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญจนทำให้ฟินแลนด์ครองบัลลังก์ ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก’ มา 7 ปีซ้อนแล้ว

หากพูดถึง ‘ฟินแลนด์’ คุณจะนึกถึงอะไรกัน? อากาศหนาวเย็น? ดินแดนแสงเหนือ? หมู่บ้านซานตาคลอส? หรือเมืองใต้ดินที่เฮลซิงกิหรอ? รู้หรือไม่ว่านอกจากอากาศดีๆ วิวทิวทัศน์สวยๆ แล้วละก็ ดินแดนแห่งนี้ก็ยังเป็นที่จดจำในฐานะ ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก’ 7 ปีซ้อนตามการจัดอันดับของบริษัทโพล ‘แกลลัพ’ (Gallup) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดอีกด้วย ซึ่งปี 2024 เป็นอีกปีที่ฟินแลนด์ยังครองบัลลังก์แชมป์อยู่ ขณะที่ประเทศไทยของเราขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 58 จาก 60 ในปีที่แล้ว 

ปัจจัยที่ทำให้พลเมืองฟินแลนด์มีความสุขนั้นมีหลายข้อ ได้แก่

  • ระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม เช่น เรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย นโนบายช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิต 
  • รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยสูง-บริหารงานโปร่งใส-คอร์รัปชันต่ำ 
  • เสรีภาพการใช้ชีวิตและความไว้วางใจในสังคม 
  • พลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ตามกฎหมายที่เรียกว่า ‘Everyman’s Right’ โดยจะอนุญาตให้คนฟินแลนด์ใช้พื้นที่ป่า ทะเลสาบ และชายทะเลเกือบทุกแห่ง 
  • รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ-ส่งเสริมสิทธิสตรี 
  • อาชญากรรมต่ำ

ทว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ฟินแลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ถึง 7 ปีซ้อนนั่นก็คือ ‘Work Life Balance’

ของดินแดนแห่งนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมากและมีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นมิตรกับพนักงาน

ว่าแต่ว่าระบบการทำงานที่นี่มีเสน่ห์และสร้างสมดุลระหว่างงานกับการใช้ชีวิตอย่างไร? SPACEBAR จะพาไปไขความลับ 

รัฐให้ความสำคัญกับ ‘Work Life Balance’ ของพลเมือง

ระบบการทำงานโดยทั่วไปในฟินแลนด์ก็คล้ายกับประเทศอื่นๆ ตรงที่สิทธิของพนักงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จะมีจุดเด่นตรงที่ชั่วโมงการทำงานที่มีความสมเหตุสมผล ประกอบกับการทำงานที่ค่อนข้างอิสระและวัฒนธรรมการทำงานไม่มีลำดับชั้นมากนัก ทำให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุและตำแหน่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในแต่ละสถานที่ทำงานด้วย 

ชีวิตการทำงานของชาวฟินแลนด์มีกฎเกณฑ์มากมายที่ลูกจ้างและนายจ้างต้องปฏิบัติตาม กฎหมายและข้อตกลงร่วมครอบคลุมข้อกำหนดสำหรับชั่วโมงทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ การลาป่วย วันหยุด การเลิกจ้าง และเงื่อนไขอื่นๆ  

นายจ้างจะต้องดูแลความปลอดภัยในการทำงานและปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งควบคุมสิ่งต่างๆ ได้แก่  

  • ชั่วโมงการทำงาน ต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้คนมีเวลาสำหรับงานอดิเรกและกิจกรรมยามว่างหลังเลิกงาน 
  • วันหยุดประจำปี 

ซึ่งนั่นทำให้การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานในฟินแลนด์นั้นง่ายกว่าในหลายประเทศ 

วัฒนธรรมการทำงานของฟินแลนด์

วัฒนธรรมการทำงานที่นี่ค่อนข้างเป็นอิสระ เนื่องจากหัวหน้างานจะไม่ติดตามการทำงานของพนักงานบ่อยนัก แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ ‘ความไว้วางใจ พึ่งพาได้ และทำงานตามที่ตกลงกันไว้’ นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานในสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมอ 

ชีวิตการทำงานของชาวฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับความตรงต่อเวลา พนักงานแต่ละคนจะต้องมาถึงที่ทำงานตรงเวลาและปฏิบัติตามกำหนดเวลา ตัวอย่างเช่น หากพนักงานทำงานเสร็จไม่ทันตามเวลา วิธีที่ดีที่สุดก็คือบอกหัวหน้างานตรงๆ หรือหากจะมาสาย ก็ต้องแจ้งที่ทำงานให้ทราบก่อน นอกจากนี้ ‘ความมีสติและความขยัน’ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน 

เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในที่ทำงานของฟินแลนด์คือ ‘การทำงานให้เสร็จสิ้นอย่างมีประสิทธิภาพ’ ชาวฟินแลนด์จำนวนมากไม่ค่อยพูดถึงชีวิตส่วนตัวในที่ทำงานมากนัก และโดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะชื่นชมกันแบบตรงไปตรงมาและตรงประเด็น ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ดีมากหากว่าการแสดงความคิดของพนักงานจะคำนึงถึงความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย และเป็นเรื่องปกติมากในที่ประชุมที่จะพูดเข้าประเด็นเลยหลังจากการทักทาย 

ชั่วโมงการทำงานที่ ‘เป็นมิตร’ กับพนักงาน

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวฟินแลนด์ว่า พนักงานที่มีความสุข พักผ่อนเพียงพอ และมีความรอบรู้นั้นเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร แม้ว่าชั่วโมงทำงานอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาและในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงถือเป็นมาตรฐาน

ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานจะแตกต่างกันไปสำหรับพนักงานที่มีการศึกษาสูง และพบว่า

ประมาณ 10% จะทำงานต่อสัปดาห์สั้นๆ (น้อยกว่า 34 ชั่วโมง) ขณะที่ 50% ทำงานตามชั่วโมงปกติ (35-40 ชั่วโมง) แต่จะมีเพียง 1 ใน 6 เท่านั้นที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

โดยทั่วไปแล้ว พนักงานจะทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ 8.00-17.00 น. พักกลางวันจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง 11.00-14.00 น. สำหรับอาหารค่ำมักจะเริ่มประมาณ 19.00 หรือ 20.00 น. และมีวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้พวกเขามีเวลาเหลือเฟือสำหรับทำสิ่งต่างๆ เช่น งานอดิเรก เข้าสังคม ผ่อนคลายไปกับธรรมชาติ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการพูดถึงการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันทั่วประเทศหรือทำงานวันละ 6 ชั่วโมง แต่ 8 ชั่วโมงก็ยังคงเป็นบรรทัดฐานในฟินแลนด์ 

เมื่อพูดถึงการลาหยุด พนักงานมีสิทธิ์ได้รับวันหยุดและวันลาพักร้อนจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวฟินแลนด์จำนวนมากจะลาหยุด 4 สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อน 

แม้แต่วันหยุดประจำปีก็ยังเอื้ออำนวยให้พนักงาน

work-life-balance-one-of-reason-finland-happiest-country-for-7th-year-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: AFP / Alessandro RAMPAZZO

ในฟินแลนด์ เทศกาลวันหยุดจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจำนวนวันหยุดประจำปีที่พนักงานมีสิทธิได้รับจะขึ้นอยู่กับว่าสัญญาจ้างเริ่มต้นเมื่อใด และลูกจ้างทำงานอยู่ที่นั่นกี่ปี โดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานจะมีวันหยุดประจำปี 2 ถึง 2.5 วันในแต่ละเดือนที่ทำงาน 

วันหยุดในฟินแลนด์นั้นดูยาวนานมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่นายจ้างส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และต้องการให้ลูกจ้างใช้เวลาช่วงวันหยุดเป็นประจำ เนื่องจากความเชื่อในฟินแลนด์ที่ว่า ‘พนักงานจะทำงานได้ดีขึ้นหากได้พักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว’ 

ในแต่ละเดือนของการทำงานเต็มเวลา ชาวฟินแลนด์จะได้รับวันหยุดประจำปีอย่างน้อย 2 วันในช่วงฤดูร้อนที่จะเริ่มช่วงปลายเดือนมิถุนายน  

และเป็นเรื่องปกติที่ชาวฟินแลนด์จะใช้เวลาวันหยุด 1 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาว ไม่ว่าจะเป็นช่วงคริสต์มาสหรือต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้คนมีความสมดุลในชีวิตการทำงานได้อีกครั้ง เพราะพวกเขาจะได้พักผ่อนกับครอบครัวก่อนกลับไปทำงาน 

นอกจากนี้ยังมีวันหยุดราชการอื่นๆ ในฟินแลนด์อีกมากมายด้วย เช่น วันชาติ วันแรงงาน วันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น  

AFP / Lucas BARIOULET

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์