อาหารแห่งอนาคต! เนื้อสิงโตเพาะในแล็บเตรียมวางขายครั้งแรกของโลก

28 กันยายน 2566 - 08:24

world-first-lab-grown-lion-meat-as-climate-friendly-cultivated-food-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บจะเป็นอีกหนึ่งวิธีการผลิตที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถผลิตอาหารจากสายพันธุ์ใดก็ได้โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์

  • โดยผลิตขึ้นจากการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์โดยตรงซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจำลองโปรไฟล์ทางประสาทสัมผัสและโภชนาการของเนื้อสัตว์ทั่วไปได้

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปและอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงก็ทำให้หลายๆ ภาคส่วนตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ทางด้านผู้ผลิตอาหารก็กำลังส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นโดยเปลี่ยนจากอาหารทางเลือกที่ใช้พืชเป็นหลัก (plant-based) มาเป็น ‘เนื้อสัตว์แปลกใหม่’ ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บเพื่อการรักษ์โลก 

และกลายเป็นว่า ‘เบอร์เกอร์เนื้อสิงโตที่เพาะเลี้ยงในแล็บ สเต็กเสือ และซูชิโรลม้าลาย’ ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอโดยบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการอาหาร โดยหวังว่าจะมีจำหน่ายในวงกว้างในที่สุด

world-first-lab-grown-lion-meat-as-climate-friendly-cultivated-food-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Primeval Foods / X : @nowthisnews

หากผลิตภัณฑ์ได้รับอนุมัติให้ผ่านตามกฎระเบียบแล้ว ทาง Primeval Foods ก็กล่าวว่า “ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินในลอนดอนจะเป็นหนึ่งในร้านแรกๆ ที่ได้ลองชิมอาหาร โดยมีแผนเพิ่มเติมที่จะขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตในท้องถิ่นก็ตาม” 

เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บจะเป็นอีกหนึ่งวิธีการผลิตที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถผลิตอาหารจากสัตว์สายพันธุ์ใดก็ได้โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ โดยผลิตขึ้นจากการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์โดยตรงซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจำลองเนื้อสัมผัสและโภชนาการของเนื้อสัตว์จริงๆ ได้ 

แนวคิดเบื้องหลังของกระบวนการนี้ก็คือ การขจัดความจำเป็นในการเลี้ยงและทำฟาร์มสัตว์เพื่อเป็นอาหาร และยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีการอนุรักษ์ที่ดินและน้ำ รักษาที่อยู่อาศัย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ป้องกันมลพิษจากมูลสัตว์ และการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป 

เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงยังไม่ได้ผลิตในระดับอุตสาหกรรม จึงยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประโยชน์ของเนื้อสัตว์ในการอนุรักษ์โลก แต่นักวิทยาศาสตร์สรุปอย่างกว้างขวางว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมจากการผลิตเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงนั้นต่ำกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วไปอย่างมาก 

จากการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพบว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าประมาณ 7 – 45% เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ที่ผลิตตามปกติในยุโรป นอกจากนี้ยังพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 78–96% ในขณะที่การใช้ที่ดินลดลง 99% และการใช้น้ำลดลง 82–96% 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทาง Financial Times รายงานว่า “ยอดขายอาหารจากพืชตกต่ำ หลังจากที่หุ้นของ Beyond Meat ลดลง 11% ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2021 โดยบริษัทขาดทุน 80.4 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.9 พันล้านบาท) ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของปีก่อน” 

“ผู้คนต่างแสวงหาการค้นพบอาหารใหม่ ร้านอาหารใหม่ ประสบการณ์การทำอาหารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่สายพันธุ์ดั้งเดิมได้มาถึงขีดจำกัดในการตอบสนองความต้องการนี้แล้ว…มันจะต้องไปไกลกว่าเมนูเนื้อวัว ไก่ และหมูในปัจจุบัน…ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรากำลังวางแผนที่จะจัดงานชิมอาหารในลอนดอนพร้อมกับเนื้อสัตว์แปลกใหม่ที่เราเพาะเลี้ยง เพื่อให้โลกได้ลิ้มรสว่าอาหารบทต่อไปจะเป็นอย่างไร” อิลมาซ โบรา หุ้นส่วนผู้จัดการของ Ace Ventures ผู้ร่วมทุนในลอนดอนที่สร้าง Primeval Foods กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์