อากาศร้อน-ชื้นสุดอันตราย ขยายพื้นที่เร็วกว่าที่คาด จะทำยอดคนตายพุ่ง

15 กันยายน 2566 - 06:19

World-study-fond-high-heat-and-humidity-will-spread-rapidly-cause-a-sharp-rise-in-deaths-SPACEBAR-Thumbnail
  • การศึกษา พบว่า พื้นที่ที่อากาศร้อนและชื้นซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายกำลังขยายพื้นที่อย่างรวดเร็ว

  • อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นแม้เล็กน้อย อาจส่งผลกระทบหลายร้อยล้านคน และจะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สภาพอากาศร้อนรุนแรง ซึ่งอาจทำให้คนที่สุขภาพดีเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง อาจส่งผลต่อคนหลายร้อยล้านคน ที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศเช่นนี้ ผลก็คือจะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากความร้อนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่จริงจังกับการพยายามเตรียมพร้อมรับสถานการณ์นี้อย่างเร่งด่วน

ปกติแล้ว ร่างกายคนเราจะเย็นลงด้วยตัวเอง ด้วยการผลิตเหงื่อออกมา ซึ่งมันจะระเหย และนำความร้อนออกไป แต่เมื่อความชื้นในอากาศสูง การระเหยก็จะลดลง การศึกษาได้นำข้อมูลจากการทดลองในผู้คน พบว่า เมื่อความร้อนและความชื้นรวมกัน วัดค่าเป็นอุณหภูมิกระเปาะเปียก (wet bulb temperature) ซึ่งก็คือ อุณหภูมิของอากาศที่วัดได้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ที่กระเปาะถูกหุ้มด้วยผ้าเปียก ถ้าเกิน 31.5 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถเย็นลงได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างมาก

นักวิจัย เรียกจุดนี้ว่า “ภาวะอันตรายจากความร้อนที่ไม่สามารถชดเชยได้” ซึ่งก็คือเหงื่อที่ไม่สามารถมาชดเชยในลักษณะอากาศร้อนรุนแรงได้ ถ้าไม่มีตัวช่วยให้ความเย็น เช่น น้ำเย็น พัดลม หรือ แอร์คอนดิชันเนอร์ ก็จะเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

นักวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดอากาศทั่วโลกหลายพันแห่ง พบว่า 4% เคยประสบกับ ‘ภาวะอันตรายจากความร้อนรุนแรง’ ช่วงระยะเวลา 6 ชั่วโมง อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ตั้งแต่ปี 1970 และภาวะนี้เกิดบ่อยขึ้นเป็นสองเท่า ในปี 2020 แต่การวิเคราะห์นี้จำกัดแค่พื้นที่อากาศร้อน เช่น อ่าวในตะวันออกกลาง ทะเลแดง และที่ราบลุ่มตอนเหนืออินเดีย

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์จากแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่า ‘ภาวะอันตรายจากความร้อนรุนแรง’ จะขยายพื้นที่อย่างรวดเร็วไปภูมิภาคอื่นๆ ด้วยความร้อนของโลก 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งวิกฤตสภาพอากาศได้ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว และที่ 2 องศาเซลเซียสนี้ กว่า 25% ของสถานีตรวจวัดอากาศจะพบกับ ‘ภาวะอันตรายจากความร้อนรุนแรง’ เฉลี่ยหนึ่งครั้งในรอบสิบปี

คาร์เตอร์ พอวิส แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร หัวหน้าการศึกษา ร่วมกับศูนย์วิจัยสภาพอากาศวูดเวลล์ (Woodwell Climate Research Center) สหรัฐอเมริกา บอกว่า “จากสิ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งหมด โดยส่วนตัวแล้ว ความร้อนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมมีความกังวลมากที่สุด และผลจากการศึกษานี้ได้ทำให้ผมกังวลมากยิ่งขึ้นไปอีก”

“ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบร้อย จนกว่าเราจะไปถึงจุดที่เลยขีดจำกัด ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เมื่อนั้นร่างกายจะไม่สามารถทนได้ ทันใดนั้นคุณจะเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว”

“และสิ่งที่กังวลก็คือ ร่างกายของเรา และสังคมของเรา จะบอบบางมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย มากกว่าที่เราคิด นี่เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งการศึกษา ที่กำลังบอกว่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์