การศึกษาพบว่าก่อนเกิดภาวะ ‘หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ ชายกับหญิง มีอาการต่างกัน

11 ก.ย. 2566 - 07:05

  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า

  • การศึกษาพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีอาการบอกล่วงหน้า 24 ชม.

  • นักวิทยาศาสตร์ ยังพบว่าอาการเตือนของหญิงกับชายต่างกัน

World-study-found-warning-symptoms-of-cardiac-arrest-are-different-between men-and-women-SPACEBAR-Thumbnail
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า 

ในสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล มากกว่า 356,000 คนต่อปี และ 90% เสียชีวิต 

ล่าสุด นักวิจัยจากสถาบัน Smidt Heart สหรัฐอเมริกา พบว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ผ่านภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีอาการบอกล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมง และนักวิจัยพบว่าอาการเตือนนั้นแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ซึ่งการศึกษานี้ เผยแพร่ในวารสาร Lancet Digital Health 

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เลือดหยุดสูบฉีดทั่วร่างกาย สาเหตุหลักเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไม่มีประสิทธิภาพ  

แต่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ต่างจากหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เพราะหัวใจวาย เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน หรือตีบอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจหยุดเต้นทันทีเหมือนกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  

อย่างไรก็ตามการเป็นหัวใจวาย ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆด้วย 

ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จะไม่มีสัญญาณเตือน และทำให้คนหมดสติไปเลย แต่บางครั้งก็อาจจะมีสัญญาณบางอย่าง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด เจ็บหน้าอก หายใจสั้น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน  

การศึกษานี้พบว่า อาการของผู้หญิงกับผู้ชายต่างกัน สำหรับผู้หญิง อาการที่เห็นได้ชัดในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ หายใจสั้น ส่วนผู้ชาย คือ เจ็บหน้าอก  

ดร.สุมีท ชุก แห่งสถาบัน Smidt Heart หัวหน้าการศึกษานี้ บอกว่า เคยมีการค้นพบที่แสดงถึงความแตกต่างในการเกิดภาวะนี้ของแต่ละเพศ เช่น ผู้ชายจะทรมานจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมากกว่า ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเป็นผู้ชาย และผู้หญิงมักจะเกิดภาวะนี้หลังจากผู้ชายเฉลี่ย 8-10 ปี  

เขาจึงแนะนำว่าในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ควรแจ้งให้ผู้หญิงรู้ว่าอาจเกิดอาการที่ไม่คาดคิดคือ หายใจสั้น เสี่ยง 3 เท่าที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และผู้ชาย จะเจ็บหน้าอก เสี่ยงได้ 2 เท่า ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน 

มีข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับคนที่เป็นหัวใจวาย ถ้าเป็นผู้หญิงมักจะมีอาการที่ผิดปกติ นอกจากอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศแล้ว ผู้หญิงจะเจ็บบริเวณอื่นด้วย และอ่อนแรง 

การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสำคัญกับสิ่งที่บอกเตือนล่วงหน้า เพื่อลดความสูญเสียจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้มากขึ้น และอีกสิ่งที่สำคัญอย่างมากคือ รู้วิธีการช่วยเหลือเมื่อเจอคนหัวใจหยุดเต้น ต้องร้องขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้งการแพทย์ฉุกเฉิน และเริ่มทำ CPR หรือปั๊มหัวใจอย่างถูกวิธี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์