พบภาพเขียนเก่าแก่ที่สุดในโลกอายุ 51,000 ปีในถ้ำบนเกาะสุลาเวสี

4 ก.ค. 2567 - 08:53

  • ภาพบนผนังถ้ำดังกล่าวเป็นภาพของหมูตัวหนึ่งขนาด 92x38 ซม. และมนุษย์อีก 3 คน เป็นภาพที่ถูกวาดด้วยลายเส้นสีแดงเข้ม นอกจากนี้ยังมีภาพหมูตัวอื่นๆ ในถ้ำอีกด้วย

  • นักวิจัยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบใหม่ในการกำหนดอายุขั้นต่ำของภาพวาดภายในถ้ำเลอัง การัมปูอัง (Leang Karampuang) ของจังหวัดซูลาเวซีใต้ โดยใช้เลเซอร์เพื่อกำหนดอายุของผลึกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘แคลเซียมคาร์บอเนต’ ซึ่งก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติบนภาพวาดผนังถ้ำ

Worlds-oldest-cave-painting-in-indonesia-shows-pig-and-people-SPACEBAR-Hero.jpg

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบงานศิลปะบนเพดานถ้ำหินปูนบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียที่ปรากฏเป็นภาพคล้ายมนุษย์ 3 คนกับหมูป่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่าเป็นภาพเขียนในถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งน่าจะมีอายุอย่างน้อย 51,200 ปีก่อน 

นักวิจัยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบใหม่ในการกำหนดอายุขั้นต่ำของภาพเขียนภายในถ้ำเลอัง การัมปูอัง (Leang Karampuang) ของจังหวัดสุลาเวสีใต้ โดยใช้เลเซอร์เพื่อกำหนดอายุของผลึกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘แคลเซียมคาร์บอเนต’ ซึ่งก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติบนภาพเขียนผนังถ้ำ 

“วิธีการนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญเมื่อเทียบกับวิธีการอื่นๆ และจะเป็นการปฏิวัติสำหรับการหาอายุศิลปะบนหินทั่วโลก” แม็กซิม ออเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลียและหนึ่งในผู้นำการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) กล่าวเมื่อวันพุธ (3 ก.ค.)  

ภาพบนผนังถ้ำดังกล่าวเป็นภาพของหมูตัวหนึ่งขนาด 92x38 ซม. และมนุษย์อีก 3 คน เป็นภาพที่ถูกวาดด้วยลายเส้นสีแดงเข้ม นอกจากนี้ยังมีภาพหมูตัวอื่นๆ ในถ้ำอีกด้วย 

นักวิจัยตีความภาพเขียนดังกล่าวว่าเป็น ‘ฉากเล่าเรื่อง’ ซึ่งพวกเขาบอกว่าจะเป็นหลักฐานการเล่าเรื่องในงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุด 

ทั้งนี้ นักวิจัยใช้วิธีการกำหนดอายุแบบเดียวกันในการประเมินอายุของภาพเขียนใน ‘เลอัง บูลู ซิปง 4’ ถ้ำอีกแห่งที่อยู่ในสุลาเวสี ซึ่งเป็นภาพเล่าเรื่องเช่นกัน และเห็นเป็นภาพชัดเจนเผยให้เห็นมนุษย์และสัตว์ที่กำลังล่าหมูป่าและควายแคระ สันนิษฐานว่าภาพวาดดังกล่าวมีอายุอย่างน้อย 48,000 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ถึง 4,000 ปี 

อย่างไรก็ดี ไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับข้อมูลผู้สร้างภาพเขียนในถ้ำที่สุลาเวสี แต่ออเบิร์ตบอกว่า “ภาพเขียนเหล่านี้อาจมีอายุย้อนไปถึงมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์กลุ่มแรกที่เข้ามารุกรานภูมิภาคนี้ และอพยพมาออสเตรเลียเมื่อประมาณ 65,000 ปีก่อน หลังจากที่พวกเขาอพยพออกจากแอฟริกา” 

ถึงกระนั้น นักวิจัยยังกล่าวอีกว่าภาพเขียนของถ้ำเลอัง การัมปูอังมีมาก่อนภาพเขียนในถ้ำของยุโรป โดยภาพเขียนที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในถ้ำเอล กัสติลโญ (El Castillo) ในสเปน ซึ่งมีอายุประมาณ 40,800 ปี

นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนลายฉลุที่เขียนด้วยมือจากถ้ำมัลทราวีโซ (Maltravieso) ในประเทศสเปน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเคยระบุอายุไว้ว่ามีอายุประมาณ 64,000 ปีก่อน และเชื่อว่าเป็นผลงานของมนุษย์สายพันธุ์นีแอนเดอร์ทัล แต่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ โต้แย้งเรื่องอายุของภาพเขียนดังกล่าวและบอกว่ามนุษย์โฮโมเซเปียนส์เป็นผู้สร้างภาพเขียนนั้น

“การค้นพบศิลปะบนผนังถ้ำเก่าแก่ในอินโดนีเซียครั้งนี้ตอกย้ำว่ายุโรปไม่ใช่แหล่งกำเนิดของศิลปะในถ้ำอย่างที่เชื่อกันมานาน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการเล่าเรื่องเป็นส่วนที่เก่าแก่มากของประวัติศาสตร์มนุษย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ศิลปะ”

อดัม บรัมม์ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหน้าการวิจัย กล่าว

ออเบิร์ตเสริมว่า “ศิลปะบนหินยุคแรกๆ ของสุลาเวสีไม่ได้เรียบง่าย มันค่อนข้างก้าวหน้าและแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางจิตใจของผู้คนในยุคนั้น”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์