วิจัย แนะ ‘เขียนด้วยมือ’ กระตุ้นความคิดและความจำได้ดีกว่า ‘พิมพ์’

30 มกราคม 2567 - 09:37

Writing-by-hand-may-improve-brain-cognitive-more-than-typing-study-finds-SPACEBAR-Hero.jpg
  • งานวิจัยล่าสุดพบว่า การเขียนด้วยมืออาจทำให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้นกว่าการพิมพ์

ยุคนี้ใครๆก็พิมพ์กัน ทั้งในการเรียน ทำงาน หรือส่งข้อความในชีวิตประจำวัน จนแทบจะลืมการเขียนไปแล้ว แต่การพิมพ์อาจเร็วกว่าการเขียนด้วยมือก็จริง แต่มันกระตุ้นสมองน้อยกว่า อ้างจากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2024 ในวารสาร Frontiers in Psychology 

หลังจากบันทึกกิจกรรมทางสมองของนักศึกษามหาวิทยาลัย 36 คน นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนอร์เวย์ ( Norwegian University of Science and Technology, NTNU) ลงความเห็นว่าการเขียนด้วยมืออาจทำให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้น 

ในช่วงต้นของการทดลอง นักศึกษาถูกบอกให้เขียนคำที่ตัวอักษรต่อกันโดยใช้ปากกาดิจิทัลบนจอทัชสกรีน หรือให้พิมพ์คำเดียวกันโดยใช้คีย์บอร์ด เช่น เมื่อคำว่า “forest” หรือ “hedgehog” ปรากฏขึ้นบนจอต่อหน้าพวกเขา พวกเขามีเวลา 25 วินาทีในการเขียนหรือพิมพ์ไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันหมวกเซนเซอร์ที่พวกเขาใส่อยู่ก็จะวัดคลื่นสมองไปด้วย ซึ่งหมวกไฟฟ้ามีขั้วไฟฟ้า 256 ขั้วติดกับหนังศีรษะ และบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของสมองนักศึกษา เพื่อดูว่าจุดไหนที่เซลล์สมองทำงานและส่วนต่าง ๆ ของสมองสื่อสารกับส่วนอื่นๆอย่างไร

“การค้นพบหลักของเราก็คือการเขียนด้วยมือกระตุ้นเกือบทุกส่วนของสมองเมื่อเทียบกับการพิมพ์ ซึ่งแทบจะไม่กระตุ้นสมอง สมองไม่ได้ถูกท้าทายมากนักเมื่อกดตัวอักษรลงบนคีย์บอร์ด ตรงข้ามกับเวลาที่เขียนตัวอักษรด้วยมือ”

ออเดรย์ แวน เดอร์ เมียร์ ศาสตราจารย์ประสาทจิตวิทยา แห่ง NTNU ผู้ร่วมทำงานวิจัย

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยยังพบว่าการเขียนด้วยมือต้องการการสื่อสารระหว่างสมองส่วนของการมองเห็น ความรู้สึก และการเคลื่อนไหว ผู้คนที่เขียนด้วยปากกาดิจิทัลจะต้องนึกภาพเป็นตัวอักษร จากนั้นก็ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวในการควบคุมการเคลื่อนไหวขณะเขียน 

ในทางกลับกัน เวลาที่เราพิมพ์แป้นพิมพ์ดูเกือบเหมือนกันหมด ยกเว้นแค่ตัวอักษร งานวิจัยพบว่าผลก็คือการพิมพ์ต้องการกิจกรรมของสมองน้อยกว่าในการนึกภาพและการเคลื่อนไหว

แวน เดอร์ เมียร์ กล่าวว่า “เพราะว่าแค่ส่วนเล็กๆของสมองทำงานระหว่างที่เราพิมพ์ จึงไม่จำเป็นที่สมองจะต้องสื่อสารกับส่วนต่างๆ” 

งานวิจัยก่อนหน้านี้ของ แวน เดอร์ เมียร์ เกี่ยวกับเด็กและวัยเริ่มทำงานพบในทำนองเดียวกันคือสมองของผู้คนจะทำงานขณะเขียนด้วยมือมากกว่าขณะพิมพ์ และงานวิจัยในปี 2017 จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ยังชี้ว่าการเขียนด้วยมือสามารถเชื่อมโยงกับทักษะการมองเห็นและการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจช่วยให้เด็กจดจำตัวอักษรได้ดีกว่า 

แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังมีหลักฐานที่ผสมกันระหว่างการบันทึกข้อความบนกระดาษกับคอมพิวเตอร์พกพา สามารถช่วยให้ผู้คนจำและเข้าใจข้อมูลในห้องเรียนได้ดีกว่าหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบ 

ราเมช บาลาสุบรามาเนียม นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้ไม่ได้ร่วมทำงานวิจัยนี้กล่าวว่า “มันยากที่จะรู้ว่าสมองทำงานอย่างไรในงานวิจัยล่าสุดและนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงในการพัฒนาการเรียนรู้และการจดจำ” 

เขากล่าวว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อนักศึกษาเขียนด้วยมือ “เกิดการเชื่อมโยงมากมายจากสมองส่วนหน้าและสมองส่วนขมับซึ่งมีการเชื่อมโยงความจำมากขึ้น”แต่ในงานวิจัยในอนาคตอาจจะต้อง “ทดสอบผู้เข้าร่วมเพื่อดูว่าพวกเขาจำอะไรได้บ้างจากสิ่งที่พวกเขาเขียนด้วยมือไปและที่พิมพ์ไป”

เขายังกล่าวว่า ผู้สูงอายุอาจเห็นถึงประโยชน์เกี่ยวกับกระบวนการคิดจากการเขียนด้วยมือ “แต่ผมคิดว่าประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุด คือ เวลาที่สมองกำลังพัฒนาอยู่ เพราะมันเป็นลักษณะของการเกิดขึ้นพร้อมกันกับกระบวนการเรียนรู้หลักอื่นๆที่กำลังเกิดขึ้น” 

แวน เดอร์ เมียร์ มักถูกกล่าวหาว่าต้องการให้ย้อนกลับไปสู่ยุคหิน โดยการสนับสนุนให้นักเรียนเขียนด้วยมือที่โรงเรียน แต่เธอกล่าวว่าทั้งการเขียนด้วยมือและการพิมพ์ควรจะมีในห้องเรียน “เราอยู่ในโลกดิจิทัลและโลกดิจิทัลก็อยู่ตรงนี้ที่เราอาศัยอยู่ ถ้าคุณต้องการที่จะเขียนเรียงความยาวหรือข้อความยาว ก็เห็นได้ชัดว่ามันดีกว่าที่จะใช้คอมพิวเตอร์”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์