“หวยขูด” ที่เคยถูกมองว่าเป็นของสำหรับ “คนสูงวัย” ตอนนี้กลับกลายเป็น “ของยอดฮิต” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีน ซึ่งเริ่มขายดีมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด และฮิตถึงขนาดขาดตลาดไปหลายวัน หลังคนรุ่นใหม่หางานยากตกงานเพียบท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ปีที่แล้วยอดขายหวยขูดของจีนพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 119,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเกินครึ่งจากปี 2022 และข้อมูลจากกระทรวงการคลังของจีนพบว่า ความฮิตยังมีต่อเนื่องมาจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยอดขายขยับขึ้นไปแตะ 39,000 ล้านหยวนซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยด้านการตลาด Mob ของจีนระบุว่า เกือบ 85% ของคนที่เสี่ยงโชคกับล็อตเตอรีอายุระหว่าง 18-34 ปี และกว่า 60% จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย
ราคาหวยขูดของจีนมีตั้งแต่ 5 หยวนไปจนถึง 50 หยวน ส่วนเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านหยวน โดยโอกาสที่จะถูกและจำนวนเงินรางวัลขึ้นอยู่กับชนิดของหวยขูด อาทิ หวยขูดใบละ 30 หยวน มีโอกาสที่คนซื้อจะกลับบ้านมือเปล่า 64% โอกาสที่จะถูกรางวัลสูงสุด 1 ล้านหยวนอยู่ที่1 ใน 5 ล้าน

ทำไมต้องเป็นล็อตเตอรี
หวังตัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฮั่งเส็งในเซี่ยงไฮ้เผยกับ The Straits Times ของสิงคโปร์ว่า “ล็อตเตอรีคือหนึ่งในรูปแบบของความบันเทิงราคาถูกที่สนองความต้องการของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความเครียดในจีน” ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดนี้คือ “ตลาดแรงงานสำหรับคนรุ่นใหม่ยังคงโหดร้าย เนื่องจากหลายบริษัทยังปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องในปีนี้”
ตัวเลขคนรุ่นใหม่ว่างงานของเดือนเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.7% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากนักศึกษาจบใหม่ 11.79 ล้านคนกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้ ขณะเดียวกัน การเลิกจ้างและการปรับลดค่าจ้างในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยีไปจนถึงการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงานรุนแรงขึ้น
หวงเจินซิง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์เซี่ยงไฮ้เผยกับ Caijing สื่อท้องถิ่นในจีนว่า “ในจิตใต้สำนึกของคนเรานั้น เมื่อโอกาสที่จะรร่ำรวยจากการทำงานลดลง พวกเขาจะเต็มใจลองเสี่ยงดวงกับล็อตเตอรีเพื่อดูว่าพวกเขาจะร่ำรวยเพียงชั่วข้ามคืนจากการมีโชคได้มั้ย และมันยังหมายถึงคนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจน้อยลงด้วย”
ส่วนมุมมองจากคนซื้อ หวังปิงวัย 31 ปีที่ซื้อล็อตเตอรีครั้งละ 100 หยวนในทุกๆ 2 สัปดาห์เผยกับ Straits Times ว่า การขูดหวยกับเพื่อนเป็นกิจกรรมกลุ่มที่สนุกและช่วยคลายเครียด ส่วนอีกคนหนึ่งเล่าไว้ในเสี่ยวหงซู (อินสตาแกรมเวอร์ชันจีน) ว่า “ทุกๆ วันฉันจะขูด 1 แถว และถ้ารางวัลใหญ่เป็นของฉัน ฉันจะหยุดทำงานแล้วไปท่องโลก” ส่วนหวงอี้ซิน พนักงานออฟฟิศวัย 26 ปีเผยกับ Straits Times ว่า “ใครจะไปรู้ ถ้าถูกรางวัลใหญ่ก็ไม่ต้องทำงานแล้ว”

แก้ปัญหาหวยขูดตลาดตลาด
แม้ว่าการพนันจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีน แต่ทางการอนุญาตให้มีการจำหน่ายล็อตเตอรีที่ดำเนินการโดยรัฐได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อเป็นเห็นช่องทางของรัฐบาลในการหาเงินมาใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ
ปัจจุบันนี้จีนมีผู้ดำเนินกิจการล็อตเตอรี 2 เจ้าคือ China Welfare Lottery และ China Sports Lottery ที่บอกกับสื่อท้องถิ่นว่า การขาดแคลนหวยขูดเกิดจากความต้องการของผู้ซื้อที่มีมากจนผลิตไม่ทันและอาจต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา
ปัญหาหวยขูดขาดตลาดนี้ นอกจากคนซื้อจะหาซื้อได้ยากแล้ว บรรดาร้านจำหน่ายล็อตเตอรีรายย่อย (ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐ) ที่กินส่วนแบ่งจากยอดขายก็พลอยกระเป๋าเหี่ยวไปด้วย เจ้าของร้านรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งเผยกับ Straits Times ว่า ตั้งแต่เดือนมษายน เขาได้หวยขูดมาจำหน่ายเพียง 30% ของที่เคยได้รับเท่านั้น
ปัญหานี้ยังทำให้เกิดการคาดเดากันว่า ทางการพยายามควบคุมความฮิตของหวยขูด แต่หวังมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากตามกฎหมายแล้วรายได้ 20% จากการจำหน่ายหวยขูดจะถูกส่งเข้ากองทุนสวัสดิการของรัฐเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือผู้สูงอายุ แต่ขณะนี้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลงทำให้ต้องมองหาแหล่วงรายได้ใหม่ อาทิ ค่าปรับ และส่วนแบ่งจากการจำหน่ายล็อตเตอรี
Photo by Pedro PARDO / AFP