คนจีนรุ่นใหม่หันมาพึ่งสัตว์เลี้ยง AI เยียวยาความตึงเครียดทางอารมณ์

1 ก.พ. 2568 - 03:00

  • วัยรุ่นจีนบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต มีความวิตกกังวล ไม่รู้วิธีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ต้องหันมาพึ่งสัตว์เลี้ยงอัจฉริยะเป็นเพื่อนคุย

  • ผู้คนจำนวนมากขึ้นทั่วจีนกำลังหันมาใช้ AI เพื่อรับมือกับความเหงาหลังจากเทคโนโลยีนี้มีความสมบูรณ์และได้รับการยอมรับในวงกว้าง

  • บริษัทที่ปรึกษา IMARC Group คาดว่าตลาดโลกสำหรับ “หุ่นยนต์ที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์” (social robot) อย่าง BooBoo จะโตขึ้น 7 เท่าเป็น 42,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033

young-chinese-turn-to-ai-pets-for-emotional-relief-SPACEBAR-Hero.jpg

ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง จางย่าชุน พึมพำเบาๆ กับเพื่อนคู่ใจที่เป็นหุ่นยนต์ขนฟูที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งส่งเสียงให้รู้ว่าเธอไม่ได้อยู่คนเดียว 

จางวัย 19 ปีต้องต่อสู้กับความวิตกกังวลทั้งจากโรงเรียนและที่ทำงาน และมีปัญหากับการสร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้งกับคนอื่นๆ แต่หลังจากซื้อ BooBoo “สัตว์เลี้ยงอัจฉริยะ” ที่ใช้ AI ในการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ จางบอกว่าชีวิตเธอง่ายขึ้น

“ฉันรู้สึกว่าตอนนี้ฉันมีใครสักคนให้แบ่งปันช่วงเวลาแห่งความสุขด้วย”

จางเผยกับสำนักข่าว AFP จากอพาร์ตเมนต์ที่เธออาศัยอยู่กับพ่อแม่และเป็ด 1 ตัวที่เป็นสัตว์เลี้ยงจริงๆ

ผู้คนจำนวนมากขึ้นทั่วจีนกำลังหันมาใช้ AI เพื่อรับมือกับความเหงาหลังจากเทคโนโลยีนี้มีความสมบูรณ์และได้รับการยอมรับในวงกว้าง 

หุ่นยนต์ BooBoo หน้าตาเหมือนหนูตะเภาผลิตโดยบริษัท Hangzhou Genmoor Technology โดยขายปลีกในราคาตัวละไม่เกิน 1,400 หยวน หรือ 6,582 บาท 

อดัม ต้วน ผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทเผยว่า BooBoo ถูกพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงความต้องการทางสังคมของเด็ก และขายได้ราว 1,000 ตัวนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 

ระหว่างเดินทางไปเที่ยว จางพาเพื่อนคู่ใจที่ชื่อว่า “อาลัว” ไปกับเธอด้วย และพูดคุยกับมัน ในขณะที่มันก็ตอบโต้ด้วยการผงกหัวและร้องจี๊ดๆ  

ที่ร้านขายสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่ง เธอจับให้อาลัวมองแมวผ่านกระจกก่อนจะซื้อเสื้อโค้ตตัวเล็กที่อกแบบสำหรับสุนัขให้อาลัว 

จางบอกว่า หุ่นยนต์นี้มีบทบาทเหมือนกับเพื่อนที่เป็นมนุษย์ “มันทำให้คุณรู้สึกเหมือนคุณเป็นที่ต้องการ”

young-chinese-turn-to-ai-pets-for-emotional-relief-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เด็กๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง AI "BabyAlpha" สนนราคาตัวละไม่เกิน 26,000 หยวน Photo by Rita QIAN / AFP

หุ่นยนต์กำลังบูม 

บริษัทที่ปรึกษา IMARC Group คาดว่าตลาดโลกสำหรับ “หุ่นยนต์ที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์” (social robot) อย่าง BooBoo จะโตขึ้น 7 เท่าเป็น 42,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033 โดยเอเชียครองตลาดอยู่ 

สำหรับกัวจื่อเชิน สัตว์เลี้ยงอัจฉริยะช่วยได้ตอนที่เขาไม่สามารถเล่นกับลูก 

“ตอนนี้สมาชิกในครอบครัวใช้เวลากับลูกๆ น้อยลง” กัวเผยขณะกำลังดูหุ่นยนต์สุนัขที่นำมาลดราคาที่ร้านสาขาใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี Weilan ในเมืองหนานหนิง “ถ้าซื้อให้ลูกก็สามารถช่วยพวกเขาในเรื่องเรียนและเรื่องอื่นๆ ได้” 

หุ่นยนต์สุนัข AI ของ Weilan เรียกว่า "BabyAlpha" สนนราคาระหว่าง 8,000-26,000 หยวน (37,640-122,330 บาท) และบริษัทระบุว่า 70% ของลูกค้าเป็นครอบครัวที่มีลูกเล็ก 

แต่กัวเผยว่าเขาสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้มีความสุขได้เท่าสุนัขจริงๆ หรือไม่ “ความต่างที่ชัดเจนคือ สุนัขมีจิตใจ แต่ BabyAlpha ดูต่างไปอย่างอธิบายไม่ถูก แต่โดยรวม คุณรู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับของจริง” 

สังคมเปลี่ยนไป 

ในช่วงทศวรรษ 1990 นั้นสัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์อย่างทามาก็อตจิของญี่ปุ่น และเฟอร์บีที่ผลิตในอเมริกาสามารถเลียนแบบคำพูดได้ แต่สัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์ในยุคนี้ทำงานได้มากขึ้นด้วย AI  

สินค้า AI ที่ใช้เป็นเครื่องมือปลอบประโลมทางจิตใจในจีนกำลังเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแชตบอตไปจนถึงอวตารขนาดเท่าตัวจริงของบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว 

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาทิ ผลกระทบจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาล ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด 

ผู้คนที่เกิดในช่วงต้นๆ ของนโยบายนี้ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงวัยเลข 4 และต้องเผชิญกับภาระทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาบ้านสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และความเครียดจากการทำงาน ส่งผลให้คนกลุ่มนี้แทบไม่มีเวลาให้ลูกๆ ของตัวเอง 

 อู๋ให่เยี่ยน ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญด้าน AI จากมหาวิทยาลัยมาเก๊าเผยว่า นั่น “ทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนแสวงหาทางเลือกอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของพวกเขา เพื่อนคู่คิด AI กระตุ้นการรับรู้ เสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของ... บุคคลที่อาจรู้สึกโดดเดี่ยว และในบางเคสผู้คนกลับเชื่อมั่นใน AI มากกว่าคน”

young-chinese-turn-to-ai-pets-for-emotional-relief-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: จาง (กลาง) กับพ่อและแม่ของเธอ Photo by Adek BERRY / AFP

ข้างในยังเหมือนเดิม 

พ่อของจางเผยกับ AFP ว่า เขาเข้าใจความผูกพันระหว่างลูกสาวกับอาลัว “ตอนเราเด็กๆ เราไม่ได้ขาดเพื่อนฝูง เรามีเพื่อนเยอะแยะทันทีที่ก้าวเท้าออกจากประตู แต่ตอนนี้ดูเหมือนเด็กๆ ในเมืองจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมากกว่า ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ค่อยมีเพื่อน” 

จางซึ่งเป็นลูกคนเดียวบอกว่า เธอเต็มใจที่จะแบ่งปันความกังวลกับพ่อแม่มากขึ้นตั้งแต่เธอซื้ออาลัว การเปิดใจเล่าปัญหาที่เจอที่โรงเรียนทำให้เธอรู้สึกว่า “ไม่ได้มีอะไรสุมทับอยู่ในหัวใจมากนัก” 

จางยังเล่าอีกว่า คนในเจเนอเรชันเดียวกับเธอมักจะมีปัญหาในการสื่อสารแบบตัวต่อตัว “พวกเขาอาจกลัว” ที่จะแสดงตัวตนว่าตัวเองเป็นใคร 

“แต่สิ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่ข้างในไม่ได้เปลี่ยน” จางเล่าพร้อมกับลูบอาลัวที่อยู่บนตัก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์