แม้ว่าคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันจะให้ความสำคัญเรื่อง Work-life Balance แค่ไหน ก็มักจะตกเป็นประเด็นให้ถกเถียงในสังคมอยู่เสมอกับคำว่าความพอดีกับความขี้เกียจที่หลายคนมองว่ามันห่างกันอยู่นิดเดียว ซึ่งในมุมมองของผู้บริหารบางคน ก็มองว่าการทำงานหนักเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง ดังเช่นก่อนหน้านี้ที่ ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอของบริษัทเทสลา (Tesla) เชิดชูการทำงานหนักเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดในชีวิต
เช่นเดียวกับผู้บริหารรายนี้ ที่บอกว่า คนหนุ่มสาวควรทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง
ผู้ประกอบการที่ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่งของอินเดียอย่าง นารายานา เมอร์ธี ซีอีโอบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อินโฟซิส (Infosys) เชื่อว่าคนหนุ่มสาว ‘จำเป็น’ ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ หากต้องการเห็นประเทศกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก

“อินเดียต้องการเด็กรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น มีระเบียบวินัย และทำงานหนักอย่างยิ่ง ซึ่งควรทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง”
นารายานา เมอร์ธี
การทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมงนั้น เมื่อคิดตามจำนวนวันทำงาน (5 วัน/สัปดาห์) เท่ากับต้องทำงานวันละ 14 ชั่วโมงเลยทีเดียว และแม้ว่าปัจจุบันสังคมจะเริ่มยอมรับการทำงานในช่วงวันเสาร์อาทิตย์มากขึ้นแล้วก็ตามจำนวนชั่วโมงที่ต้องทำงานต่อวันก็ยังไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงอยู่ดี (ขนาดคิด 7 วันต่อสัปดาห์ยังอยู่ที่วันละ 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว)
“เยาวชนของเรามีนิสัยที่ชอบนำนิสัยที่ไม่พึงประสงค์จากตะวันตกเข้ามาแล้วไม่ช่วยเหลือประเทศ ประสิทธิภาพการทำงานของอินเดียจึงตกเป็นหนึ่งในประเทศที่ ‘ตกต่ำ’ ที่สุดในโลก ชาวอินเดียควรเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เกิดตลาดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะจีน”
นารายานา เมอร์ธี

เมอร์ธีบอกว่า ผู้นำองค์กรในอินเดียควรกระตุ้นให้คนหนุ่มสาว ‘ทำงานให้หนักมากๆ’ และบอกพวกเขาว่า นี่เป็นครั้งแรกที่อินเดียได้รับความเคารพจากทั่วโลก ถึงเวลาแล้วที่เราจะรวบรวมและเร่งความก้าวหน้า
อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และคาดว่าจะขยายตัว 6.3% ในปีนี้ ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
บริษัทอินโฟซิสก่อตั้งขึ้นในปี 1981 และกลายเป็นหนึ่งบริษัทเอาท์ซอร์สที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฟอร์บส์ (Forbs) ประเมินความร่ำรวยของเมอร์ธีไว้มากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้เมอร์ธียังเป็นพ่อตาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชชี ซูนัก อีกด้วย
ความคิดเห็นของเมอร์ธีเกิดขึ้นท่ามกลางวิธีคิดของผู้คนเกี่ยวกับการทำงานในตะวันตกและจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในช่วงไม่กี่ปีมานี้คนหนุ่มสาวในประเทศจีนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ lying flat ซึ่งมาจากคำว่า ถั่งผิง (躺平) ในภาษาจีน ที่แปลตรงตัวว่านอนราบ คือแนวคิดที่เลิกอุทิศตัวให้กับการทำงานหนัก เพื่อต่อสู้กับวัฒนธรรมทำงานหนักเกินไป หรือ 996 (996 - เข้างาน 09.00 น. เลิกงาน 21.00 น. และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์)

เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ อย่าง ‘การทำงานตามสโคปงาน (Job Description)’ กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากหยุดทำงานนอกเวลาและไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับมอบหมาย
เมอร์ธีบอกว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่ชาวเยอรมัน และญี่ปุ่นทำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ..แต่นี่คือเรื่องจริงหรือเปล่า?
ย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของชาวเยอรมันและญี่ปุ่นพุ่งสูงถึง 2,200 – 2,400 ชั่วโมงต่อปี คิดเป็น 8.3 - 9 ขั่วโมงต่อวันในช่วงการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์โดยไม่มีวันหยุด แต่มันก็ยังน้อยกว่าที่เมอร์ธีว่าไว้ถึง 2.5 ชั่วโมงอยู่ดี

ที่สำคัญไปกว่านั้น มีแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งในเยอรมัน และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางอุตสาหกรรมมากมาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยจึงลดลงเรื่อยๆ จนเหลือประมาณ 1,400 – 1,600 ชั่วโมงต่อปีภายในปี 2020 ซึ่งคิดเป็นราวๆ 5.3 - 6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับอินเดียแล้ว ชั่วโมงการทำงานในอินเดียอยู่ราวๆ 2,000 ชั่วโมงต่อปี และคงอยู่เช่นนั้นตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปี 2020 ขณะที่มีแรงงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ การเพิ่มชั่วโมงการทำงานหรือเพิ่มผลผลิตด้านเทคโนโลยี สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดีกว่ากัน?

ข้อมูลจาก ePaper The Hindu แสดงผลการเปรียบเทียบระหว่างชาวเยอรมัน ชาวญี่ปุ่น และชาวอินเดีย พบว่า ชาวอินเดียใช้เวลาไปกับการเล่นกีฬา และทำกิจกรรมยามว่างอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้เวลานอนหลับ และทำงานบ้านมากกว่าอีก 2 ชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำตามคำแนะนำของเมอร์ธีแล้วละก็ อินเดียก็จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือทางสถิติที่เพียงพอจะวัดจำนวนแรงงานได้อย่างแม่นยำ เนื่องจาก 89% ของแรงงานอินเดียนั้นยังอยู่ในลักษณะการจ้างงานแบบนอกระบบ เทียบกับเยอรมันที่มีเพียง 4.2% และญี่ปุ่นที่มีแรงงานนอกระบบ 8%

แน่นอนว่าความคิดเห็นของเมอร์ธีนั้นกลายเป็นลานจอดรถทัวร์ให้ชาวเน็ตเข้ามาก่นด่า และโจมตีบนโซเชียลมีเดีย เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมีงานสำรวจที่บ่งชี้หลายครั้งว่า ‘ชาวอินเดีย รู้สึกว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ทำงานหนักเกินไปและได้รับค่าตอบแทนน้อยที่สุดในโลก’
และด้วยความแตกต่างอย่างมากในลักษณะของกำลังแรงงานใน 3 ประเทศนี้ จะสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างที่เมอร์ธีต้องการหรือไม่?