เปิดรายชื่อ ‘นายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในโลก’ อายุน้อย แต่มากประสบการณ์!

16 ส.ค. 2567 - 11:58

  • เปิด 5 รายชื่อ ‘นายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในโลก’ ถึงอายุน้อย แต่ระหว่างทางก็มากประสบการณ์ มีใครบ้าง?

  • หนึ่งในนั้นมีคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลในวัยเพียง 24 ปีเท่านั้น

youngest-national-leaders-in-the-world-SPACEBAR-Hero.jpg

สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเมืองไทยอีกครั้งสำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่คนที่ 31 ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศ นายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของไทยในวัย 37 ปี และเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในโลก หลังชนะโหวตเลือกนายกฯ ในสภาเห็นชอบ 319 เสียงเมื่อวันศุกร์ (16 ส.ค.) 

ในมุมต่างประเทศเองก็มีผู้นำ และนายกฯ ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกเหมือนกัน และนี่ก็คือ ‘หนึ่งในนายกฯ ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก’ 

1.วิลเลียม พิตต์ / นายกฯ อังกฤษ (1783-1801) / อายุ 24 ปี

‘วิลเลียม พิตต์’ ได้ชื่อว่าเป็น ‘นายกฯ ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โลก’ และของอังกฤษในวัยเพียง 24 ปี 

พิตต์เกิดในตระกูลขุนนางผู้ดี เป็นบุตรชายของ วิลเลียม พิตต์ เอิร์ลที่ 1 แห่งแชแทม รัฐบุรุษ และนักการเมือง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พิตต์จะซึมซับการเมืองจากพ่อของเขา ในปี 1780 พิตต์ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภาตอนอายุ 21 ปี ต่อมาในปี 1782 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการรกระทรวงการคลัง จากนั้นก็ขึ้นเป็นนายกฯ ในวัย 24 ปีจากการแต่งตั้งจากพระเจ้าจอร์จที่ 3 เมื่อปี 1783 

แม้ว่าอำนาจใหม่ที่พิตต์ได้มานั้นจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกคน แต่การแต่งตั้งดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งนานเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานเกือบ 19 ปี 

สำหรับผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดีตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ได้แก่ : 

  • การบังคับใช้พระราชบัญญัติอินเดีย 1784 เพื่อดูแลและควบคุมดินแดนของอังกฤษในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก และควบคุมกิจการของบริษัท 
  • พระราชบัญญัติสหภาพ 1800 รวมราชอาณาจักรบริเตนใหญ่กับราชอาณาจักรไอร์แลนด์เข้าด้วยกัน เพื่อก่อตั้งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ 
  • นำอังกฤษเข้าสู่สงครามต่อสู้กับฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน

2.เซบาสเตียน คูรซ์ / นายกฯ ออสเตรีย (2017-2019, 2020-2021) / อายุ 31 ปี

youngest-national-leaders-in-the-world-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Joe Klamar / AFP

‘เซบาสเตียน คูร์ซ’’ นักการเมืองชาวออสเตรียที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึง 2 สมัยตั้งแต่ปี 2017 ในวัย 31 ปี จนถึงปี 2019 และครั้งที่ 2 ปี 2020-2021 

คูรซ์มีความทะเยอทะยานทางการเมืองอย่างมากมาตั้งแต่ก่อนเริ่มอาชีพทางการเมืองของเขา ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคเยาวชน (JVP) ในปี 2003 ต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานพรรคประจำกรุงเวียนนาในปี 2008 และในปี 2011 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายบูรณาการทางสังคม 

ในปี 2013 คูร์ซได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุดในออสเตรียและในยุโรปเมื่ออายุ 27 ปี จนกระทั่งในปี 2017 เขาก็ดำรงตำแหน่งประธานพรรคประชาชนออสเตรีย (ÖVP) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2017 ก่อนที่พรรคของเขาจะได้ชนะเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2017 จากนั้นคูรซ์จึงขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ ในวัย 31 ปี 

สำหรับผลงานเด่นระหว่างดำรงตำแหน่งได้แก่ : 

  • จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคพรรคเสรีภาพแห่งออสเตรีย (FPÖ / พรรคขวาจัด) ทำให้ออสเตรียกลายเป็น ‘ประเทศเดียวในยุโรปตะวันตกที่มีพรรคขวาจัดทำงานอยู่ในรัฐบาล’  
  • มีบทบาทในกลุ่มวิแชกราด 4 (Visegrad group) กลุ่มความร่วมมือพันธมิตรทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ และสโลวาเกีย แม้ว่าออสเตรียจะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ แต่คูร์ซก็ร่วมประชุมอยู่บ่อยครั้งในประเด็น ‘Islamophobia’ (ความหวาดกลัวอิสลาม) 
  • อนุมัติกฎหมายที่เรียกร้องให้ ‘ห้ามการสวมเสื้อผ้าที่ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์หรือศาสนาโดยเฉพาะการคลุมศีรษะแบบอิสลาม’ ในเดือนพฤษภาคม 2019 
  • ออกมาตรการต่อสู้กับลัทธิ ‘อิสลามหัวรุนแรง’

3.ซานนา มาริน / นายกฯ ฟินแลนด์ (2019-2023) / 34 ปี

youngest-national-leaders-in-the-world-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Photo by Jonathan NACKSTRAND / AFP

‘ซานนา มาริน’ นักการเมืองชาวฟินแลนด์ที่อายุน้อยที่สุดที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของฟินแลนด์ในวัย 34 ปี 

มารินเริ่มเข้าร่วมกลุ่มเยาวชนของพรรคสังคมประชาธิปไตยในปี 2006 และ 2 ปีต่อมา เธอได้ลงสมัครชิงที่นั่งในสภาเทศบาลเมืองตัมเปเร แต่การเสนอชื่อครั้งนั้นล้มเหลว มารินจึงลงสมัครอีกครั้งในปี 2012 จนได้รับเลือก และได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาในปี 2013 หลังจากนั้นมารินก็ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในปี 2015 

2 ปีต่อมาในปี 2017 เธอได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยคนแรก และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองอีกครั้ง กระทั่งในปี 2019 ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารในช่วงเวลาสั้นๆ จนท้ายที่สุดในเดือนธันวาคม 2019 มารินก็เข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังจากที่ อันต์ติ รินเน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยลาออก 

สำหรับผลงานเด่นระหว่างดำรงตำแหน่งได้แก่ : 

  • ตอบสนอง และรับมือกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินกำหนดมาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด ปิดโรงเรียน กำหนดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจและสังคม 
  • ให้เงินทุนสนับสนุนด้านการแพทย์ ช่วยเหลือธุรกิจและบุคคลต่างๆ ในช่วงวิกฤต จนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปหลายประเทศ ทำให้มารินได้รับคำชมอย่างกว้างขวางถึงการจัดการวิกฤตนี้ได้อย่างมั่นใจ 
  • พาฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต (NATO) ได้สำเร็จเมื่อปี 2023 

4.กาเบรียล อัตตัล / นายกฯ ฝรั่งเศส (มกราคม 2024-ปัจจุบัน) / 34 ปี

youngest-national-leaders-in-the-world-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Photo by Franck FIFE / AFP

‘กาเบรียล อัตตัล’ นักการเมืองชาวฝรั่งเศสที่เพิ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ ไปหมาดๆ เมื่อเดือนมกราคม 2024 จากพรรคเรอเนสซองซ์ ในวัย 34 ปี 

อัตตัล ถือเป็นนักการเมืองที่ได้เลื่อนตำแหน่งทางการเมืองอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภาในเดือนมิถุนายน 2017 และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติและเยาวชนในปี 2018 ซึ่งทำให้เขาเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่รับราชการในรัฐบาลฝรั่งเศส หลังจากนั้นอัตตัลก็เป็นทั้งโฆษกรัฐบาลในปี 2020, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการดำเนินการสาธารณะและการบัญชีในปี 2022, และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติและเยาวชนในปี 2023 

ท่ามกลางวิกฤตการณ์รัฐบาลครั้งใหญ่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จึงแต่งตั้งให้อัตตัลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ แทน เอลิซาเบธ บอร์น เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2024 ทำให้เขากลายเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศส และเป็นนายกฯ คนแรกที่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นเกย์ 

ปัจจุบันอัตตัลขอลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2024 แต่มาครงขอให้เขาอยู่รักษาการณ์ต่อไปก่อน 

สำหรับผลงานเด่นก่อนดำรงตำแหน่งได้แก่ : 

  • อัตตัลได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภารุ่นใหม่ที่มีความสามารถมากที่สุด 
  • ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติและเยาวชนในปี 2023 อัตตัลได้เสนอมาตรการภายใต้หลัก ‘รัฐฆาราวาส’ ของฝรั่งเศส (Laïcité / รัฐที่เป็นกลางต่อทุกศาสนา) โดยห้ามสวมชุดอาบายะ (abaya) หรือชุดคลุมหลวมๆ แบบอิสลามในโรงเรียนรัฐบาลของฝรั่งเศส เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างรัฐและชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม 

5.จาซินดา อาร์เดิร์น / นายกฯ นิวซีแลนด์ (2017-2023) / 37 ปี

youngest-national-leaders-in-the-world-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: Photo by Bryan Bedder / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP

‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ เป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของนิวซีแลนด์ในรอบกว่า 150 ปี และเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 ของประเทศ 

อาร์เดิร์นเริ่มต้นเข้าสู่สายการเมืองหลังจากเรียนจบในปี 2001 ด้วยการเข้าทำงานตำแหน่งนักวิจัยในสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้ง เฮเลน คลาร์ก ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อมาในปี 2005 เธอได้ออกหาประสบการณ์จากต่างประเทศย้ายมาทำงานที่กรุงลอนดอนในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในสมัยนายกฯ โทนี่ แบลร์ เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง 

ในปี 2007 อาร์เดิร์นได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพเยาวชนสังคมนิยมนานาชาติ (IUSY) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวทำให้เธอได้เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ เช่น แอลจีเรีย จีน อินเดีย อิสราเอล จอร์แดน และเลบานอน จนกระทั่งปี 2008 อาร์เดิร์นก็เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในวัยเพียง 28 ปี 

ต่อมาในปี 2011 อาร์เดิร์นลงชิงที่นั่ง ส.ส.เขตออกแลนด์ แข่งกับ นิกกี เคย์ จากพรรคแห่งชาตินิวซีแลนด์ แต่ก็แพ้ไปอย่างหวุดหวิด จนในปี 2014 ก็วนกลับมาเจอเคย์อีกครั้งแล้วก็แพ้อีก หลังจากนั้นไม่นานอาร์เดิร์นก็กลับมาทำงานในสภาอีกครั้งในฐานะ ส.ส.จากพรรคแรงงาน และนั่นทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

ในที่สุดปี 2017 นับว่าเป็นปีทองของอาร์เดิร์นหลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งซ่อมของสภาผู้แทนราษฎรเขตเมาท์อัลเบิร์ต จากนั้นเธอก็ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคหลังจาก แอนดรูว์ ลิตเทิล ลงจากตำแหน่ง และกลายเป็นอาร์เดิร์นที่เป็นแคนดิเดตจากพรรคแรงงานที่สามารถชนะการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2017 ได้ 

สำหรับผลงานเด่นระหว่างดำรงตำแหน่งได้แก่ : 

  • เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายปืนหลังเกิดเหตุกราดยิงที่มัสยิดอัลนูร์ เมืองไครสต์เชิร์ช ในปี 2019 
  • สนับสนุนการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน นอกจากนี้ในปี 2018 อาร์เดิร์นยังกลายเป็นนายกฯนิวซีแลนด์คนแรกที่เข้าร่วมเดินขบวนไพรด์พาเรด 
  • สนับสนุนการลดอัตราจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศเหลือราวปีละ 20,000–30,000 คน 
  • การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยประมาณ 100 วัน 
  • สนับสนุนทางออกสองรัฐเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล–ปาเลสไตน์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์