โฆษกต่างประเทศสายแข็งถูกลดตำแหน่ง เพราะจีนซอฟต์ลง หรือเพราะเมียทำผิด?

11 ม.ค. 2566 - 08:14

  • ทางการจีนย้ายเจ้าลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนไปนั่งตำแหน่งใหม่รองอธิบดีกรมกิจการเขตแดนและมหาสมุทร

  • ผู้เชี่ยวชาญจับตาท่าทีทางการทูตของจีนว่าจะซอฟต์ลงหรือไม่

  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนตั้งข้อสังเกตเหตุเกิดเพราะโพสต์ของภรรยา

zhao-lijian-china-reassigns-combative-wolf-warrior-diplomat-SPACEBAR-Hero
สื่อต่างชาติพากันจับตาท่าทีทางการทูตของจีนหลัง เจ้าลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ได้รับการขนานนามว่า ‘นักรบหมาป่า’ (Wolf Warrior) จากการโต้ตอบชาติตะวันตกที่วิจารณ์จีนด้วยท่าทีดุเดือด เช่นเดียวกับชาวจีนที่ให้ความสนใจกับข่าวนี้และพากันตั้งคำถามต่างๆ นานา เพราะตำแหน่งใหม่ของเจ้าลี่เจียนดูเหมือนจะไม่ค่อยโดดเด่นเท่าตำแหน่งเดิม 

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. มีคำสั่งให้เจ้าลี่เจียนไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมกิจการเขตแดนและมหาสมุทร ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับการสื่อสารเลย นอกจากนี้ยังมีความคลุมเครือว่าเขาถูกย้ายไปเพราะเหตุใด และยังไม่ชัดเจนด้วยว่าเขาจะไปรับตำแหน่งใหม่นี้เมื่อไร  

เจ้าลี่เจียน เข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 1996 เขาเป็นหนึ่งในหัวหอกของการทูตแบบเผชิญหน้าและตอบโต้ด้วยความแข็งกร้าว โดยก่อนจะหน้านี้ที่เจ้าลี่เจียนดำรงตำแหน่งนักการทูตระดับกลางในปากีสถาน สิ่งหนึ่งที่เขาทำเป็นประจำก็คือทวีตข้อความต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์โลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อนอยู่เสมอจนมีวิวาทะกับ ซูซาน ไรซ์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในขณะนั้นเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติในสหรัฐฯ 

การแต่งตั้งเจ้าลี่เจียนเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อเดือน ส.ค. 2019 ถูกมองว่าแนวทางนักรบหมาป่าได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน จนทำให้นักการทูตจีนคนอื่นๆ ทั่วโลกใช้แนวทางทางการทูตแบบดุดันพร้อมชนแบบเจ้าลี่เจียน 

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า อิทธิพลของเจ้าลี่เจียนแผ่ไปอย่างลึกซึ้งในบรรดานักการทูตจีนหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่จีนสื่อสารกับพันธมิตรและปรปักษ์ได้อย่างรวดเร็ว และเข้ามาแทนที่วาทะนักการทูตที่ไม่เผชิญหน้าตรงๆ และใช้ศัพท์เฉพาะของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นลักษณะแถงการณ์สาธารณะของประเทศมานานหลายทศวรรษ 

ตลอดช่วงเวลากว่า 3 ปีในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เจ้าลี่เจียนจุดประเด็นที่หวิดสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศมากมาย อาทิ ในช่วงเริ่มแรกที่โควิด-19 ระบาดเจ้าลี่เจียนบอกว่าเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพสหรัฐฯ แล้วนำเข้ามาในจีน  

อีกครั้งหนึ่งคือ การโพสต์ภาพทหารออสเตรเลียนายหนึ่งสังหารเด็กชาวอัฟกันซึ่งเป็นภาพตัดต่อ ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทางการจีนของโทษ และเมื่อปีที่แล้วเจ้าลี่เจียนยังช่วยกระพือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับห้องวิจัยอาวุธชีวภาพของสหรัฐฯ ในยูเครน 

ท่าทีที่แข็งขึงดุดันของเจ้าลี่เจียนได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนที่ต้องการตอบโต้นโยบายต่างประเทศที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อนของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จนบัญชีเวยป๋อของเจ้าลี่เจียนมีผู้ติดตามเกือบ 8 ล้านคน 

การโยกย้ายเจ้าลี่เจียนเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่ ฉินกัง อดีตนักการทูตจีนประจำสหรัฐฯ และเคยเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนด้วย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนคนใหม่ 

ฉินกัง วัย 56 ปี มีแนวโน้มจะดำเนินการทูตตามประเพณีเดิม ขับเคลื่อนด้วยสื่อสังคมออนไลน์น้อยลง และส่งสัญญาณว่าต้องการแก้ไขความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์ของเจ้าลี่เจียน 

การโยกย้ายนี้ยังสอดคล้องกับท่าทีของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในระยะหลังที่แสดงให้เห็นว่าอยากจะกลับมาผูกสัมพันธ์กับ สหรัฐฯ และผู้นำประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอมนี นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย  

ด้าน หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนเผยเมื่อวันอังคาร (10 ม.ค.) ว่า “สหายเจ้าลี่เจียนถูกย้ายไปตำแหน่งใหม่ตามความต้องการของงานของเรา” 

ผู้สังเกตการณ์บางรายมองว่า การโยกย้ายเจ้าลี่เจียนเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนกำลังจะหันหลังให้การทูตแบบดุเดือด 

บิลล์ บิชอป นักข่าวชาวอเมริกันเขียนไว้ในบล็อก Sinocism ของเขาว่า แนวทางดังกล่าวดูเหมือนจะเป็น "หลักการพื้นฐาน" ของรูปแบบการทูตของสีจิ้นผิง และในขณะที่เจ้าลี่เจียนเป็น "หนึ่งในกระบอกเสียงที่แข็งกร้าว" ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่าแนวทางของจีนยังเหมือนเดิม อาทิ ผังจงอิง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเสฉวนเผยว่า การโยกย้ายดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงสไตล์ทางการทูตของจีน แต่อาจ “มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง” ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ 

ผังจงอิงกล่าวอีกว่า การโยกย้ายเป็นการย้ายอยู่ในระดับเดิม ในฐานะหัวหอกด้านการทูตแบบนักรบหมาป่า “เขาควรได้รับความชื่นชมและการเลื่อนตำแหน่ง แต่นี่ไม่มีทั้งการชื่นชมและการเลื่อนตำแหน่ง” 

เช่นเดียวกับ อัลเฟรด อู่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่ไม่คิดว่าการย้ายเจ้าลี่เจียนบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายทางการทูตที่เบาลง  

อัลเฟรด อู่เผยว่า การเปลี่ยนแปลงบทบาทของเจ้าลี่เจียนน่าจะเกี่ยวข้องกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากสไตล์การพูดที่ดุดันและชีวิตส่วนตัวมากกว่า “ในระบบการปกครองของจีน เจ้าลี่เจียนไม่ใช่คนใหญ่คนโต เขาเป็นเพียงรองผู้อำนวยการ มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในเชิงกลยุทธ์มากนัก มันเป็นกลวิธีที่จะทำให้โฆษกการต่างประเทศของจีนไม่ส่งเสียงดังเกินไป” 

ข่าวการโยกย้ายตำแหน่งของเจ้าลี่เจียนได้รับความสนใจจากชาวจีนเป็นวงกว้าง เมื่อช่วงเช้าของวันอังคาร (10 ม.ค.) ชาวจีนอ่านข่าวในในเวยป๋อกว่า 23 ล้านครั้ง โดยหลายคนมองว่าการโยกย้ายครั้งนี้เป็นการลดตำแหน่ง 

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนอีกส่วนหนึ่งพากันตั้งข้อสังเกตว่า โพสต์ในโซเชียลมีเดียของ ถังเทียนหรู ภรรยาของเจ้าลี่เจียนอาจเกี่ยวข้องกับการที่สามีถูกโยกย้าย โดยหลายๆ โพสต์ของถังเทียนหรูเผยให้เห็นว่าเธอไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะเข้าร่วมอีเว้นต์ในที่สาธารณะในขณะที่ทางการจีนบังคับใช้มาตรการสกัดโควิด-19 อย่างเข้มงวด บางภาพยังแสดงให้เห็นว่าถังเทียนหรูท่องเที่ยวอยู่ในเยอรมนีแม้ว่าในช่วงเวลานั้นจีนยังจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนอยู่ 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ถังเทียนหรูยังเคยโพสต์ทำนองตัดพ้อว่า สามีของเธอทำงานหนักเกินไปแต่กลับไม่ได้รับการยอมรับท่าที่ควร ล่าสุดเธอบ่นลงในเวยป๋อเกี่ยวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สามีเธอได้รับและความยากลำบากในการหาซื้อยารักษาโควิดจนถูกกระแสตีกลับและต้องลบโพสต์ไปในที่สุด 

ทั้งนี้ ตำแหน่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่มีความโดดเด่น และในอดีตคนที่เคยดำรงตำแหน่งนี้จะได้รับการแต่งตั้งให้นั่งในตำแหน่งสูงขึ้น อาทิ ฉินกัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ก็เคยเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน เช่นเดียวกับ ฮั่วชุนอิ๋ง ที่เคยเป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2012 ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อปี 2021

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์