อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ที่มีแนวโน้มขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ รวมถึงไทย ย้ำต้องลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ กระจายความเสี่ยง สร้างฐานการค้าและการผลิตใหม่ พร้อมเสนอแนวคิดถอดบทเรียนจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อทุกประเทศที่เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงประเทศไทยนั้น ถือเป็นสัญญาณชัดเจนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว ไม่เพียงเพื่อ ‘อยู่รอด’ แต่เพื่อ ‘ยกระดับ’ การแข่งขันของตนเอง
“เราต้องไม่พึ่งตลาดสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว การกระจายตลาด การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ และการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทย คือทางรอด” วิกรม กล่าว
มองเห็นโอกาสจากอาเซียน-จีน
ข้อมูลของอมตะระบุว่า การค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนยังเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี และจีนยังเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านขนาดตลาด จำนวนประชากร และรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน รถไฟ และท่าเรือ ซึ่งเอื้อต่อการส่งสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ได้สะดวก
ถอดบทเรียนประเทศยักษ์ใหญ่ สร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน
วิกรม ยังเสนอให้ไทยนำโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มาใช้ โดยเน้นการเปิดกว้างรับคนเก่งจากทั่วโลก เข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพแรงงานภายในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอด ‘โนฮาวน์’ เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก
“การดึงต่างชาติเข้ามาร่วมมือ ไม่ใช่การลดบทบาทคนไทย แต่คือการเร่งยกระดับคุณภาพการผลิตของประเทศให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่” เขาระบุ
ปัจจุบันกว่า 80% ของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยมีตลาดหลากหลายทั่วโลก ส่วนที่เหลือ 20% ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งสะท้อนความสามารถในการปรับตัวและกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ
มั่นใจไทยยังดึงดูดนักลงทุน
โอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาดของอมตะ กล่าวว่า ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานและทำเลที่ตั้ง ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชีย โดยอมตะยังมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว เพื่อรองรับการลงทุนระยะยาวจากต่างชาติ

สำหรับแผนเดินหน้าของของกลุ่มอมตะในปีนี้ ยังคงรักษาการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากบริษัทกลุ่มอมตะ มีนิคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศที่รองรับการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนิคมฯ อมตะในไทยประเทศเวียดนาม และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาใน สปป.ลาว ดังนั้นการตัดสินใจของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในนิคมฯ ต้องใช้องค์ประกอบหลายด้านในการย้ายฐานการผลิต เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน ที่สำคัญผู้ประกอบได้มีการเตรียมตัว และคาดการณ์เพื่อรับผลกระทบที่เกิดขึ้นของตลาดสหรัฐฯล่วงหน้าอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์เกิดขึ้นไว้ในระดับหนึ่ง