3 เกษตรกร ตัวอย่าง ‘เกษตรก้าวหน้า’ ยุคดิจิทัล

23 ธ.ค. 2566 - 08:27

  • แบงก์กรุงเทพ โชว์เกษตรกรดีเด่น 3 ด้าน ตัวจริง ‘เกษตรก้าวหน้า 2566’

  • จัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้ ‘นักวิชาการ สู่เกษตรกร’ หลังโลกเปลี่ยนแปลงหนัก! ภาคเกษตรต้องทันสถานการณ์

  • แนะหมั่นหาความรู้รอบด้าน ชนะเกมการผลิตที่ต้องเผชิญปัญหาสภาพภูมิอากาศ

bbl-agricultural-advancement-2023-smart-farming-SPACEBAR-Hero.jpg

โลก ยุคที่การค้าสินค้าเกษตร จะต้องปลอดภัยกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกร ผู้อยู่ในกระบวนการผลิต ‘ต้นน้ำ’ ต้องหมั่นหาความรู้ เพื่อพัฒนาผลผลิตให้ทันกับสิ่งที่โลกต้องการ แน่นอนว่า บทบาทของเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยภาคเกษตรหลายด้าน รัฐเองพยายามส่งเสริมสนับสนุน ตั้งแต่ผลงานวิจัยและพัฒนา กระทั่งถึงดาวเทียม THEOS ที่มีส่วนช่วยภาคเกษตรและประเทศไทยเป็นอย่างมาก

เวทีสัมมนา ‘เกษตรก้าวหน้า 2566’ ซึ่งจัดโดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็น 1 ในตัวช่วยพัฒนาทักษะให้ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป เพื่อสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที โดยให้ข้อมูลที่ชี้ถึง ทิศทางเกษตรไทยในยุคดิจิตอล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีอวกาศ (THEOS2) แจ้งเตือนภัยสภาพอากาศ ภัยแล้งน้ำแล้ง รวมถึงกฎระเบียบการค้าโลกที่เข้มข้นขึ้น และพฤติกรรมความต้องการผู้บริโภคในอนาคต โดยมีนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อให้เกษตรกรรู้เท่าทันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ถือได้ว่า เกษตรกรจำนวนหนึ่งได้ปรับตัวเรียบร้อยแล้ว ดังเช่นเกษตรกรดีเด่น ที่ธนาคารกรุงเทพ มอบ 3 รางวัล ในฐานะตัวจริงของ ‘เกษตรก้าวหน้า 2566’ โดยทั้ง 3 รางวัล ได้แก่

รางวัลเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น ผู้รับรางวัล คือ นายสุวิทย์ ไตรโชค บริษัท นาวิต้าฟาร์ม จำกัด อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าของฟาร์มเมล่อน ผู้ซึ่งเป็นวิศวกร ปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี IOT ควบคุมการผลิต โดยพัฒนาเทคนิควิธีการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น จนกลายเป็นสินค้าพรีเมียม ส่งขายทั้งในและต่างประเทศตลอดปีแบบ ‘ไร้โรงเรือน’

bbl-agricultural-advancement-2023-smart-farming-SPACEBAR-Photo01.jpg

รางวัลผู้บริหารซัพพลายทางการเกษตรดีเด่น ผู้รับรางวัล คือ นายสุนทร ศรีทวี บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผักและผลไม้สด เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ วางโครงสร้างการจัดการห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร (Supply Chain) ไว้เป็นระบบอย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทางการปลูกไปจนถึงส่งออก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

bbl-agricultural-advancement-2023-smart-farming-SPACEBAR-Photo02.jpg

รางวัลเกษตรรุ่นใหม่ดีเด่น ได้แก่ นายฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์  บริษัท เชียงใหม่ เฟรช โปรดักส์ จำกัด อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่และทายาทธุรกิจรุ่น 2 ของสวนส้มจงลักษณ์ ต่อยอดธุรกิจครอบครัวพัฒนาคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนการจัดการในแปลงด้วยเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาช่องทางตลาดสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการสินค้าทั่วประเทศ

bbl-agricultural-advancement-2023-smart-farming-SPACEBAR-Photo03.jpg

นายสุวิทย์ ไตรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาวิต้าฟาร์ม จำกัด อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ‘ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย’ ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับรางวัล เกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566 กล่าวว่า ตนมีความสนใจที่จะนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการปลูกเมล่อน ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะเคยได้ดูงานในประเทศอิสราเอล แต่ขณะนั้นเทคโนโลยีในไทยยังไม่สามารถทำได้สมบูรณ์ 

กระทั่งในปัจจุบันได้ร่วมมือกับ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPPA) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการสนับสนุนเงินทุนและอบรมเสริมความรู้จากธนาคารกรุงเทพ จนสามารถพัฒนา ‘ตู้คอนโทรลอัจฉริยะ’ ได้สำเร็จ โดยสามารถวัดความชื้น อุณหภูมิ และธาตุอาหารในดินได้อย่างครบถ้วน และแสดงผลเรียลไทม์ผ่านมือถือ รวมทั้งยังสั่งรดน้ำ หรือใส่ปุ๋ย ได้ผ่านมือถือในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของพืชได้ภายในระบบเดียว จากการทดลองใช้มากว่า 4 ปี พบว่า ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้นและมีผลเมล่อนคุณภาพเกรดเอ ในสัดส่วนสูงถึง 90% อย่างสม่ำเสมอจึงทำให้ขายได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด

“เกษตรกรไทยหลายคนเริ่มสนใจการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ แต่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั้งหมดในระบบ และส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจและนำไปใช้ไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือภาครัฐจะต้องมาสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรก้าวข้ามการทำเกษตรกรแบบเดิมไป สู่การทำเกษตรแบบดิจิทัลเพราะตอนนี้สินค้าเกษตรไทยต้องเอาคุณภาพเข้าสู้ เจาะกลุ่มตลาดลูกค้าพรีเมียมที่ได้ราคาสูง หากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่าได้ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ทั้งภาครัฐและเกษตรกรไทยได้เห็นถึงความสำคัญในจุดนี้”

นายสุวิทย์ กล่าว

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผย ธนาคารฯ มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรของไทย โดยในยุคแรก ธนาคารมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดีมากยิ่งขึ้น

bbl-agricultural-advancement-2023-smart-farming-SPACEBAR-Photo04.jpg

ยุคที่ 2 สนับสนุนการสร้างเครือข่าย ใน 2 ส่วนหลัก คือ เครือข่ายด้านการตลาด และ เครือข่ายด้านการผลิต โดยธนาคารยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการ Matching Business ระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออก ทั้งในรูปแบบของการจัดนิทรรศการผลงาน และเปิดโอกาสให้เกษตรก้าวหน้า นำผลผลิตมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ในงาน ‘วันเกษตรก้าวหน้า’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีด้วย 

และปัจจุบัน อยู่ในยุคที่ 3 ธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการผลักดันให้เกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็น Smart Farming หรือ การทำเกษตรแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มคุณภาพ ปริมาณของผลิตผลทางการเกษตร และยังช่วยลดต้นทุนในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย

“ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีเกษตรกรกว่า 7.7 ล้านครัวเรือน เป็นพื้นฐานรายได้ที่สำคัญของไทย ดังนั้นภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยตลอด 24 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่บริการทางการเงิน แต่เรายังต้องการสนับสนุนให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นยุคที่ 3 หรือ ยุคของนวัตกรรม กระบวนการที่จะพัฒนาต่อไปขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ธนาคารกรุงเทพ ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farming ก็ดี Precision Farming ก็ดี ตลอดจนถึงเรื่องของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจร (Zero Waste) ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น”

นายพิเชฐ กล่าว

งานนี้ จัดขึ้นเมื่อ ศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 ณ ลานด้านหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม ท่ามกลางผู้สนใจร่วมงานล้นหลาม

bbl-agricultural-advancement-2023-smart-farming-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์