คลื่นยักษ์ขยะแบต EV หลังโลกขานรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ไทยพร้อมแค่ไหน?

23 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:43

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
  • 381% คือ อัตราการเติบโตของรถ BEV ในประเทศไทย พ.ศ.2566

  • ถ้าอัตราการเติบโตอยู่ในระดับนี้ อีก 20 ปีข้างหน้า จะมีขยะแบตเตอรี่เสื่อมสภาพราว 1.7 ล้านลูกอยู่ในประเทศไทย

  • ประเทศไทยวันนี้ พร้อมรับมือกับคลื่นขยะแบตเตอรี่จากรถ BEV แค่ไหน

381% คือ อัตราการเติบโตของรถ BEV ในประเทศไทย พ.ศ.2566

ตัวเลขการเติบโต (growth rate) ดังกล่าว คิดจากรถยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle - BEV) ทุกประเภท ตั้งแต่รถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์

ถ้าย้อนกลับไปดูยอดรถจดทะเบียนใหม่ย้อนหลัง 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) เทียบกับ พ.ศ.2566 จากฐานข้อมูลของ กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก จะพบว่า ยอดรถ BEV เพิ่งโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: ยอดรถ BEV ไทย พ.ศ.2566 โตก้าวกระโดด 381%

ยอดรถจดทะเบียนใหม่ พ.ศ.2561-2566

  • พ.ศ.2561 = 325 คัน
  • พ.ศ.2562 = 1,572 คัน, (โตขึ้น 383%)
  • พ.ศ.2563 = 2,999 คัน, (โตขึ้น 90.7%)
  • พ.ศ.2564 = 5,889 คัน, (โตขึ้น 96.3%)
  • พ.ศ.2565 = 20,817 คัน, (โตขึ้น 253.4%)
  • พ.ศ.2566 = 100,219 คัน, (โตขึ้น 381.4%)

การเติบโตของรถ BEV วันนี้ คือปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังสภาพแวดล้อมก้าวข้ามเขตอันตรายสู่จุดวิกฤต #โลกเดือด ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงจากภาวะสงครามและความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาครัฐหันมาสนับสนุน EV ผ่านนโยบายระดับชาติ และมาตรการอัดฉีดเพื่อลดคาร์บอน

ขณะที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะค่ายรถจีนที่ขยายการเติบโตนอกประเทศ หลังเศรษฐกิจในจีนซบเซา ด้วยการบุกตลาดรถทั่วโลก โดยใช้ BEV เป็นหัวหอก ด้วยกลยุทธ์มอบสเปคที่ดีในราคาที่เซ็กซี่กว่า

BEV เต็งหนึ่ง โตแรงแซงโค้ง

ถ้าดูภูมิทัศน์ธุรกิจยานยนต์ทั่วโลก ณ ต้นปี 2024 จะพบว่า เกือบทั้งหมดต่างมุ่งไปที่ BEV ยกเว้นค่ายยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น โตโยต้า (Toyota) เพียงค่ายเดียวที่ อากิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda) ประธานบริษัทประกาศลั่นโลกว่า หมากเกมนี้จะไม่จบที่ BEV แต่จะเป็น Multi Pathway ที่ผู้คนเลือกใช้รถที่ตามความต้องการของตัวเอง ไม่ว่ารถน้ำมัน รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฮโดรเจน โดย BEV จะครองสัดส่วนแค่ 30%

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่, อากิโอะ โตโยดะ, Toyota, Akio Toyoda
Photo: อากิโอะ โทโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้า. Noriaki Mitsuhashi / N-RAK PHOTO AGENCY

ยุคการเปลี่ยนผ่านของรถยนต์เพิ่งเริ่มต้น และเป็นอนาคตที่ยังไม่มีบทสรุป แต่ถ้ามองจากข้อเท็จจริง ณ วันนี้ BEV มาแรงแซงโค้งที่สุด

โดยเฉพาะในประเทศไทย มีแนวโน้มว่า มาตรการ EV 3.5 จะกระตุ้นตลาด BEV ในประเทศปีนี้ (พ.ศ.2567) และปีต่อๆ ไปให้โตอย่างต่อเนื่อง

แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ โจทย์ใหญ่หลัง BEV โต

สายธาร BEV กำลังเชี่ยวกราก และยากจะทัดทาน เพราะความเชื่อว่านี่คือทางออกของ #พลังงานสีเขียว คือปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดเงินนักลงทุน และกระพือกระแส BEV ให้แรงกว่าเดิม

แต่ขณะเดียวกัน BEV ก็ถูกตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมซ้ำซ้อน เพราะการกำจัดแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพหลังการใช้งาน ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ยังคิดไม่จบ

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: สำนักข่าว Bloomberg นำเสนอข่าวการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV คือความท้าทายครั้งใหญ่ในจีน เผยแพร่เมื่อ 21 ธันวาคม 2566

“รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด (exponential growth) หลังยอดขายทะลุ 10 ล้านคันใน พ.ศ.2565” รายงาน Global EV Outlook 2023 - Catching up with climate ambitions ระบุในประโยคแรกของบทสรุปผู้บริหาร (Executive summary)

ล่าสุด มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Reuters รายงานยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2566) ว่าโตแซงปีก่อนหน้าถึง 28.5%

เทียบยอดขายรถ EV (รวม BEV และ PHEV) ทั่วโลก พ.ศ.2565 และ พ.ศ.2566

พ.ศ.2565 = 10.5 ล้านคัน 

  • BEV = 7.7 ล้านคัน (73%)
  • PHEV = 2.8 ล้านคัน (27%)

พ.ศ.2566 = 13.6 ล้านคัน

  • BEV = 9.5 ล้านคัน (70%)
  • PHEV = 4.1 ล้านคัน (30%)
spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: รถยนต์นำเข้า รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla จอดอยู่ที่ท่าเรือไทเป 11 พฤศจิกายน 2564. SAM YEH / AFP

“ใน 10-15 ปี เมื่อมีการเลิกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมีอุตสาหกรรมรีไซเคิล” ดร.แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์ยุทธศาสตร์วัสดุสำคัญและธาตุ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญกับ BBC เมื่อ พ.ศ.2564 หลังสหภาพยุโรปตั้งเป้าจะมีรถ EV บนถนน 30 ล้านคันในปี 2030 (พ.ศ.2573)

รีไซเคิลแบต EV เก่า ไทยพร้อมแค่ไหน?

เมื่อย้อนมองกลับมาที่ประเทศไทย ก็น่าคิดเหมือนกันว่า ในอนาคตเราพร้อมรับมือกับจำนวนแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพจากรถ BEV มากน้อยแค่ไหน

SPACEBAR นำข้อมูลการเติบโตของ BEV ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มาทำแบบจำลองเชิงข้อมูล โดยใช้อัตราการเติบโตที่ผ่านมาเป็นฐาน เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการเติบ BEV ในประเทศไทยถึง พ.ศ.2573 (ปี 2030) พบว่า

ในอีก 7 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีจำนวนรถ BEV (รวมรถยนต์ทุกประเภท) สะสมอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: คาดยอดสะสมรถ BEV ไทย พ.ศ.2573 โตทะลุ 1.2 ล้านคัน

ห้องปฏิบัติการพลังงานทดแทนแห่งชาติ (National Renewable Energy Laboratory) แห่งสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า แบตเตอรี่ Lithium-Ion ซึ่งเป็นแบตเตอรี่หลักของรถ BEV ในตลาด มีอายุการใช้งานเฉลี่ยราว 12-15 ปี

หลังจากนั้น แบตเสื่อมสภาพ (มักถูกปลดระวาง หลังเก็บไฟฟ้าลดลงเหลือ 80%) จากรถ BEV จะมีปลายทางอยู่ 2 แห่ง

1. ใช้เป็นแบตเตอรี่ในระบบกักเก็บพลังงานของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งการใช้แบตมือสองที่มีต้นทุนถูกลง ช่วยให้สามารถแข่งขันราคาค่าไฟฟ้าได้

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: แผงโซลาร์เซลล์ที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Khavda Renewable Energy Park ในประเทศอินเดีย 12 มกราคม 2567. PUNIT PARANJPE / AFP

2. แบตไม่ได้ถูกส่งไปโรงไฟฟ้า หรือแบตที่หมดอายุการใช้งานจากโรงไฟฟ้าแล้ว จะต้องเข้าสู่โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อแยกชิ้นส่วน และนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีหัวใจอยู่ที่การแยกโลหะลิเธียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญให้บริสุทธ์ เพื่อนำใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลูกใหม่

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: พนักงานของบริษัท Fortech ในคอสตาริกา แสดงโลหะที่รีไซเคิลจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 20 กุมภาพันธ์ 2567. EZEQUIEL BECERRA / AFP

หากประเมินอายุแบตเตอรี่เทียบกับอัตราการเติบโตของรถ BEV ในประเทศไทย (จากตารางด้านบน) จะพบว่า...

  • ปี พ.ศ.2576, 10 ปีข้างหน้า จะมีแบตเตอรี่เสื่อมสภาพจำนวน 31,602 ลูก
  • ปี พ.ศ.2581, 15 ปีข้างหน้า จะมีแบตเตอรี่เสื่อมสภาพจำนวน 652,848 ลูก
  • ปี พ.ศ.2586, 20 ปีข้างหน้า จะมีแบตเตอรี่เสื่อมสภาพจำนวน 1,708,317 ลูก

จำนวนแบตเสื่อมสภาพเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามอัตราการเติบโตของ BEV แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนาน แบตเสื่อมสภาพจากรถ BEV จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

นี่คือ ‘ปัญหา’ ที่ทุกประเทศกำลังขบคิดและพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบต เพราะในแง่หนึ่งคือโอกาสทางธุรกิจ และเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ถ้าคิดจะหนุน BEV อย่างยั่งยืน

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: อีก 20 ปี ไทยเตรียมรับขยะแบต EV เสื่อมสภาพ 1.7 ล้านลูก

คำถามคือ ตอนนี้ไทยพร้อมแค่ไหน?

ถ้าดูจากหน้าข่าว เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และการประชุมบอร์ดอีวีครั้งล่าสุด (21 กุมภาพันธ์ 2567) จะพบว่า ตอนนี้ไทย “รู้ตัว” แล้วว่า ต้อง “เตรียมพร้อม” ในการจัดการแบตเสื่อมสภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  • ข่าวเมื่อปลายปี พ.ศ.2566 ในหน้าข่าวประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ ปตท. (ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566) ปรากฏข่าวการร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่ ระหว่าง ปตท. และอีก 3 บริษัท (GPSC - บริษัทผลิตไฟฟ้า, Nuovo Plus - บริษัทผลิตและขายแบตเตอรี่ EV, TES - บริษัทรีไซเคิลแบตเตอรี่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) เพื่อหาโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีและ ‘ศึกษาความเป็นไปได้’ ในการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในประเทศไทย
bev-battery-next-big-challenge-green-energy-SPACEBAR-Photo10.jpeg
  • ล่าสุด ในการประชุม ‘บอร์ดอีวี’ (คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ) ครั้งที่ 1/2567 ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ ได้มีการมอบหมายให้ไป ‘ศึกษาแนวทางการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วแบบครบวงจร’ เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนรู้ตัวและเตรียมพร้อมแล้ว จะ “พร้อม” จริง หรือไม่ คงต้องรอดูแนวนโยบายและแผนการที่จะคลอดออกมาว่าจะเป็นรูปธรรมแค่ไหน 

และสิ่งที่วางไว้ จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้หรือไม่

เพราะไม่งั้น BEV ที่เป็นพระเอกของยานยนต์ยุคต่อไป อาจพลิกบทบาทกลายเป็นผู้ร้ายที่สร้างขยะ มลพิษ และซ้ำเติมสิ่งแวดล้อมให้เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

#รีไซเคิลแบต จุดชี้ขาด BEV คือตัวจบหรือไม่

ได้อย่าง ก็ต้องเสียอย่าง คือกฎธรรมดาของทุกสิ่งบนโลกนี้

จำนวนรถ BEV ที่เพิ่มขึ้น จึงหมายถึงความต้องการแบตเตอรี่ Lithium-Ion ที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งเงานั้นทาบทับไปถึงต้นทาง คือการถลุงแร่ลิเธียมจากการทำเหมืองที่ก่อมลพิษ และใช้ทรัพยากรน้ำจืดปริมาณมหาศาล

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: พื้นที่จอดรถในที่ราบเกลือ Salinas Grandes ในรัฐฆูฆุยทางตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา 18 ตุลาคม 2565. MARTIN SILVA / AFP

“ผืนแผ่นดินของเรากำลังแห้งแล้ง และน้ำของเราเป็นมลพิษ”

นาติ มาชาก้า (Nati Machaca) ชนพื้นเมืองรัฐฆูฆุย (Jujay) ที่อยู่ทางตอนเหนือของอาร์เจนติน่า ประเทศแหล่งผลิตแร่ลิเธียมใหญ่อันดับ 4 ของโลก คือหนึ่งผู้ประท้วงการทำเหมืองในบ้านเกิดของเธอ ให้สัมภาษณ์กับ BBC

การถือกำเนิดของ BEV ที่ใช้แบตเตอรี่ Lithium-Ion เป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน ส่งผลให้แร่ลิเธียม ซึ่งเป็นส่วนผสมอันแสนวิเศษของแบตเตอรี่ชนิดนี้ กลายเป็นแร่ธาตุที่มีความต้องการสูงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับมูลค่าของมัน จนถูกเรียกว่า “ทองคำสีขาว” (white gold)

รัฐฆูฆุยที่มาชาก้าอาศัยอยู่ เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘สามเหลี่ยมลิเธียม’ (lithium triangle) ที่ครอบคลุมเทือกเขาแอนดีสและคร่อมในพื้นที่ชายแดน 3 ประเทศ--อาร์เจนติน่า โบลิเวีย และชิลี ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ลิเธียมมากที่สุดในโลก

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: เหมืองลิเธียมของบริษัทชิลี SQM (Sociedad Quimica Minera) ในทะเลทรายอาตากามา เมืองกาลามา ประเทศชิลี 12 กันยายน 2565. MARTIN BERNETTI / AFP

ถึงแม้รัฐแห่งนี้จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ผลิตแร่ลิเธียมอันดับ 4 ของโลก แต่ผลประโยชน์ใดๆ ไม่เคยตกถึงชนพื้นเมือง ซ้ำร้ายวิถีชีวิตพวกเขายังถูกคุกคามจากการทำเหมือง เพราะการสกัดแร่ลิเธียมต้องใช้ปริมาณน้ำหลายล้านลิตร

น้ำคือชีวิต ทั้งชีวิตของพืช สัตว์ หรือมนุษย์ น้ำที่เคยมีเคยใช้ถูกสูบไปใช้กับการทำเหมือง ผืนดินแห้งแล้ง พืชพันธุ์ไม่งอกงาม อาหารเริ่มขาดแคลน

ขณะที่ผู้จัดการเหมืองแร่ ตัวแทนของกลุ่มทุนบอกว่า กระบวนการทำเหมือง “มีการพัฒนาให้ดีขึ้นทุกวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนที่มากขึ้น” ขณะเดียวกัน เหมือนแห่งนี้จะสร้างโอกาสการจ้างงานในท้องถิ่น โอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรม

แต่นิยามความเจริญของคนทำเหมืองที่ตั้งหน้าตั้งตาคว้าโอกาสจากการเติบโตของ BEV กับชนพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตเลี้ยงวัวและอยู่กับธรรมชาติดูจะไม่ตรงกัน

“ความมั่งคั่งไม่ได้มีแค่มิติการปรับปรุงเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และคงอยู่ต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน”

ชนพื้นเมืองชาวอาร์เจนติน่าคนหนึ่งพูดถึง ‘ชีวิตที่ดี’ ในสายตาของพวกเขา

spacebar สเปซบาร์, EV, BEV, รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, มาตรการ EV3.5, อาร์เจนติน่า, เหมืองลิเธียม, แร่ลิเธียม, ขยะแบตเตอรี่
Photo: คนขับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีชาร์จในแคลิฟอร์เนีย 21 สิงหาคม 2565. FREDERIC J. BROWN / AFP

ทุกวันนี้ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยคัดแยกและสกัดแร่ลิเธียมจากแบตเสื่อมสภาพออกให้ได้มากที่สุด คือความท้าทายที่โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ทั่วโลกต้องการไปให้ถึง

เพราะยิ่งสกัดแร่ลิเธียมจากแบตเก่าได้มากเท่าไหร่ เท่ากับลดการขุดแร่ใหม่จากเหมืองได้มากเท่านั้น และถ้าสกัดได้ใกล้เคียงหรือเท่ากับ 100% จากแร่เดิมในแบตเก่า

นั่นหมายถึงอนาคตที่ยั่งยืนของ BEV ที่จะไม่ใช่แค่คำโฆษณาอีกต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์