ธปท.ชี้ ศก.มี.ค.67 ‘ชะลอ’ การส่งออก ค่อยๆ ฟื้น

30 เม.ย. 2567 - 12:03

  • แบงก์ชาติ ชี้ เศรษฐกิจเดือน มี.ค. ชะลอลง หลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า แต่สรุปรวมตลอดทั้งไตรมาส 1 ถือว่าปรับตัวดีขึ้น

  • ชี้ แรงขับเคลื่อนสำคัญ จาก ‘ภาคท่องเที่ยว’ และมาตรการกระตุ้น

  • ขณะที่การส่งออก ดีขึ้นจากเดือนก่อน เผยเหตุ เห็นตัวเลขติดลบสูง กว่า 10% เป็นเพราะเทียบปีก่อนหน้า ที่ส่งออกอู้ฟู่

bot-monthly-briefing-economy-finance-march-2024-SPACEBAR-Hero.jpg

ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เผยถึง ภาวะเศรษฐกิจไทย เดือนมีนาคม 2567 ซึ่งถือได้ว่า เป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก ภาพเศรษฐกิจ ‘ชะลอลง’ จากเดือนก่อน (กุมภาพันธ์) เล็กน้อย เหตุปัจจัยมาจากการไม่มีแรงขับเคลื่อน หลังจากเร่งไปมากในช่วงเดือนก่อนหน้า ทั้งด้านอุปสงค์ของประเทศ และภาคท่องเที่ยว

“ถ้ายังจำกันได้ เรามีเรื่องของการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเรื่องของ easy e receive ที่เป็นมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ เดือนนี้พอจบมาตรการสนับสนุน จึงทำให้ภาพของเศรษฐกิจเดือนมีนคม ชะลอลงบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากดูตลอดทั้งไตรมาสที่ 1 เครื่องชี้วัดยังชี้ว่า เศรษฐกิจขยายตัวจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้ล่าสุด ว่า เราอาจได้เห็น QoQ (ไตรมาสก่อนหน้า) ที่โตประมาณ 1% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลัก จากภาคท่องเที่ยว ดันตัวเลขรวมทั้งไตรมาสให้เพิ่มขึ้น ผลพวงจาก ช่วงเทศกาลตรุษจีน และจากมาตรการ ฟรีวีซ่า ทำนักท่องเที่ยวจีนเข้าเที่ยวไทย 36.2% รวมถึงสัญชาติอื่นด้วย”

ปราณี กล่าว

bot-monthly-briefing-economy-finance-march-2024-SPACEBAR-Photo02.jpg

แบงก์ชาติชี้เหตุ ทำไมส่งออกถึงติดลบ กว่า 10%

สำหรับสถานการณ์การส่งออกไทย เดือนมีนาคม 2567 นั้น ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ระบุ ถือว่า ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า (MoM) นำโดยกลุ่ม ยานยนต์ ปิโตรเลียม เป็นสำคัญ แต่หากเทียบปีที่แล้ว (YoY) จะพบว่า ติดลบ 10.2% เพราะถือเป็นการเทียบจากฐานสูงเมื่อปีก่อน ซึ่งมีการเร่งส่งออก เช่น เครื่องปรับอากาศ ไปยุโรป และสหรัฐอเมริกา และการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ทุเรียน น้ำตาล (โดยเฉพาะ ทุเรียน ที่ออกก่อนฤดูกาล ทำให้ได้เห็นตัวเลขการส่งออกที่สูงมาก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ที่เห็นตัวเลขที่ติดลบถึง กว่า 10% ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากดู MoM จะพบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.1% จึงมองว่า การส่งออก ไม่ได้ทรุดตัวรุนแรง ซึ่งตัวเลขที่เห็นก็สอดคล้องกับที่ณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดไว้ ว่าเดือนมีนาคม จะเห็นภาพนี้

bot-monthly-briefing-economy-finance-march-2024-SPACEBAR-Photo03.jpg

สอดคล้องกับที่เรามองว่า การฟื้นตัวของการส่งออกนี้ ก็ยังจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จะไม่ได้หวือหวามาก เพียงแต่ไม่ได้น่าตกใจที่เห็นตัวเลข YoY ติดลบ เพราะเป็นเรื่องของการเทียบฐานสูง ซึ่งการปรับตัวที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้านี้ ได้แก่

อุตสาหกรรมยานยนต์
- ส่งออกรถกระบะไป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง 
- ส่งออก ยางล้อ ไป สหรัฐอเมริกา

อุตสาหกรรมปิโตรเลียม
- ส่งออก ปิโตรเลียม ไปตลาดเวียดนาม และมาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 17.8%) เป็นต้น

“จะมีบางกลุ่ม ที่มูลค่าการส่งออกลดลง เช่น กลุ่มเหล็ก สินค้าเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งโดยรวมทั้งไตรมาส 1 มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ ‘หดตัวเล็กน้อย’ ที่ 0.4% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ตามการส่งออกปิโตรเลียม ยานยนต์ และชิ้นส่วน ไปอาเซียนที่ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ กนง. ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ว่าการฟื้นตัวของการส่งออกในไตรมาส 1 และ 2 หรือช่วงครึ่งแรกของปี อาจจะยังจำกัดอยู่ แต่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี”

ผอ.อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าว

bot-monthly-briefing-economy-finance-march-2024-SPACEBAR-Photo04.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์