ครม.ไฟเขียว ให้แบงก์-เทลโก้ ร่วมรับผิด คอลเซ็นเตอร์โกง ปชช.

28 ม.ค. 2568 - 06:48

  • ครม. เห็นชอบ พ.ร.ก.ไซเบอร์

  • เพิ่มโทษ ธนาคาร-ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบ ประชาชนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก

  • คาด ก.พ.นี้ มีผลบังคับใช้

cabinet-banks-telcos-share-responsibility-call-center-steal-money-SPACEBAR-Hero.jpg

ภัยการเงินและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งผลเสียหายกับเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลปี 2567 พบความเสียหายมากสุด มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ล่าสุด ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.แก้คอลเซ็นเตอร์ ให้ค่ายมือถือ-ธนาคาร ร่วมรับผิด

เรื่องนี้ จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม (ดีอี) นำเสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (พ.ร.ก.ไซเบอร์) โดยมีเหตุผลความเร่งด่วน หลังรัฐบาลพบว่าประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ย 60-70 ล้านบาทต่อวัน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ปัญหานี้

สาระสำคัญ ในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ดังนี้
1. เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
2. เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
3. เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
4. เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย
5. เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
6. เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

สำหรับร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ หลัง ครม. เห็นชอบ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกา ระบุจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนหน้านี้
       
พ.ร.ก. ฉบับนี้ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ประกอบกัน เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการอีกทั้งยังมีมาตรการอื่นอีก เช่น การทำงานร่วมกับต่างประเทศในการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีฐานที่ตั้งบริเวณชายแดน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

“ขณะนี้ เพื่อนบ้านอาเซียน ร่วมยกระดับการปราบปราม โดยในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งล่าสุด รมว.ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอี ได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นรายงานในที่ประชุม ซึ่งทุกประเทศก็เห็นพ้องในการยกระดับร่วมกันและถือว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงในโซเชียล เป็นภัยที่ทุกประเทศต้องตระหนัก จึงต้องทำงานร่วมกัน”

นายจิรายุ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์