ต่างชาติลงทุนไทย Q1 ปี 68 รวม 47,033 ล้าน ญี่ปุ่นแชมป์

25 เม.ย. 2568 - 04:00

  • ไตรมาสแรกปี 2568 ต่างชาติลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31%

  • เงินลงทุนรวม 47,033 ล้านบาท อันดับหนึ่ง ญี่ปุ่น ลงทุน 15,915 ล้านบาท

  • ตามด้วย จีน 6,083 ล้านบาท และ สิงคโปร์ 4,950 ล้านบาท

dbd-q1-2025-foreigners-investment-thailand-increase-SPACEBAR-Hero.jpg

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 272 ราย 

เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 205 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 47,033 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรกของไตรมาสแรก ปี 2568 ได้แก่

1. ญี่ปุ่น 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ 
 - ธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
 - ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน
 - ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า
 - ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนจับยึดเครื่องมือตัด

2. สหรัฐอเมริกา 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ 
 - ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องสำอาง
 - ธุรกิจบริการคลังสินค้า
 - ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล
 - ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต ได้แก่ สิ่งปรุงแต่งอาหาร โลหะผสมสำหรับผลิตเครื่องประดับ

dbd-q1-2025-foreigners-investment-thailand-increase-SPACEBAR-Photo01.jpg

3. จีน  34 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ 
 - ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนโลหะ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
 - ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร  (Free Zone)
 - ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
 - ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนยานพาหนะ

4. สิงคโปร์ 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ 
 - ธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูล สำหรับโครงการรถไฟฟ้า
 - ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย 
 - ธุรกิจบริการ Data Center
 - ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม Printed Circuit Board ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ

5. ฮ่องกง 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ 
 - ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
 - ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า
 - ธุรกิจบริการ Data Center
 - ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ได้แก่ แก้วเก็บความร้อน ผลิตโครงที่นั่งยานพาหนะ กระดาษลูกฟูก อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม

ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลสำหรับโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับสถานีจัดประจุไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบจัดการเชื้อเพลิงอัจฉริยะ องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมจัดการคลังสินค้า เป็นต้น

dbd-q1-2025-foreigners-investment-thailand-increase-SPACEBAR-Photo02.jpg

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2567 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 94 ราย (53%) (เดือน ม.ค. - มี.ค.68 อนุญาต 272 ราย / เดือน ม.ค. - มี.ค.67 อนุญาต 178 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,131 ล้านบาท (31%) (เดือน ม.ค. - มี.ค.68 ลงทุน 47,033 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - มี.ค.67 ลงทุน 35,902 ล้านบาท) รวมถึงมีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มขึ้น 760 ราย (90%) (เดือน ม.ค. - มี.ค.68 จ้างงาน 1,605 คน / เดือน ม.ค. - มี.ค.67 จ้างงาน 845 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน 

อธิบดีอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม - มีนาคม) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 88 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2567 จำนวน 32 ราย (57%) (เดือน ม.ค. - มี.ค.68 ลงทุน 88 ราย / เดือน ม.ค. - มี.ค.67 ลงทุน 56 ราย) โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 24,234 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ *ญี่ปุ่น 27 ราย ลงทุน 9,295 ล้านบาท *จีน 22 ราย ลงทุน 3,685 ล้านบาท *สิงคโปร์ 9 ราย ลงทุน 2,194 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 30 ราย ลงทุน 9,060 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 
 * ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (แม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์
 * ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ
 * ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
 * ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง แก้วเก็บความร้อน เป็นต้น 

เฉพาะเดือนมีนาคม 2568 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 91 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 26 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 65 ราย เงินลงทุนรวม 11,756 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ มีการจ้างงานคนไทย 261 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องจักรสำหรับบรรจุของเหลว องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อการผลิตรถยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มบริหารงานติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนมีนาคม 2568 ได้แก่ 
 * ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ 
 * ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน
 * ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ
  * ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็ก ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์