การตรวจสอบข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประจำสัปดาห์ พบข่าว ‘ภัยพิบัติ’ ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 โดยเฉพาะประเด็น “จะเกิดแผ่นดินไหวพร้อมกัน ในเมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไทย และลาว ในวันที่ 21 เม.ย. 68” ซึ่งถือเป็นประเด็นเขย่าขวัญสร้างความตื่นตระหนกในสังคม หลังเพิ่งเกิดเหตุร้ายกับประเทศไทยไปเมื่อ 28 มีนาคม ยังไม่ทันหายหวาดผวา
เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บอกว่า เมื่อมีกระแสของภัยพิบัติ ประชาชนจึงสนใจมาก เพราะมีผลกระทบต่อสังคม ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ โดยแม้วันเตือนภัยจะผ่านไปแล้ว แต่ข่าวแผ่นดินไหว นำมาสร้างกระแสเมื่อใด ประชาชนก็ยังตระหนกตกใจอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไม่เพียงข่าวภัยพิบัติเท่านั้น ยังมีข่าวปลอมอื่นๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่เป็นลำดับรองลงมาตามลำดับ ได้แก่
อันดับ 2 เรื่อง “หาดกะหลิม ป่าตอง จ.ภูเก็ต เกิดน้ำลด เตรียมรับมือสึนามิ” ซึ่งก็เป็นข่าวปลอม โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อ เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จะลดอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก วิตกกังวล เกิดความสับสนในสังคม
อันดับที่ 3 : เรื่อง ในปี 68 จะเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง พื้นที่กรุงเทพฯ รับความรุนแรงเทียบเท่าวันที่ 28 มี.ค. 68
อันดับที่ 4 : เรื่อง เตรียมปล่อยตัวนักโทษ 3.8 หมื่นคน ส่วนใหญ่คดียา
อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมการขนส่งฯ เปิดต่อใบขับขี่ปี 2568 ไม่ต้องสอบใหม่!
อันดับที่ 6 : เรื่อง ช็อก! พบรอยเลื่อนแก่งคร้อพาดผ่านชัยภูมิ-ขอนแก่น เสี่ยงแผ่นดินไหว!
อันดับที่ 7 : เรื่อง เดือนกรกฎาคม 2568 จะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ แผ่นดินไหว และสึนามิ
อันดับที่ 8 : เรื่อง เปิดรายชื่อ 10 จังหวัดกระทบแผ่นดินเคลื่อน และวางแผนความเสี่ยง
อันดับที่ 9 : เรื่อง เมฆเตือนภัย ตอม่อทางด่วนถล่ม มีผู้เสียชีวิตมากกว่าเหตุทางด่วนพระราม 2
อันดับที่ 10 : เรื่อง ประธาน สตง. เป็นที่ปรึกษาบริษัทไชน่า เรลเวย์นัมเบอร์ 10
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภัยพิบัติ เหตุการณ์แผ่นดิน ซึ่งเป็นทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด ความสับสนในสังคม โดยหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม มีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง”
เวทางค์ กล่าว

เวทางค์ ยังย้ำ ข่าวอันดับ 1 เรื่อง “วันที่ 21 เม.ย. 68 จะเกิดแผ่นดินไหวพร้อมกัน ในเมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไทย และลาว” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ข้อมูลเกี่ยวกับกระแสข่าวดังกล่าวไม่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาแต่อย่างใด อีกทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้
จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และติดตามการแจ้งเตือนจากทางราชการเท่านั้น โดยประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง โดย กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะออกประกาศเตือนทันที หากพบแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบ
ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “หาดกะหลิม ป่าตอง จ.ภูเก็ต เกิดน้ำลด เตรียมรับมือสึนามิ” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ขณะนี้ไม่ได้มีการเตือนภัยสึนามิแต่อย่างใด (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย. 68) ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางราชการ อย่าได้ตื่นตระหนกกับข่าวลือจากแหล่งข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
