ส่อปิดแจกเงินหมื่นดิจิทัล ป.ป.ช. แจง เสี่ยงขัดกฎหมาย

17 ม.ค. 2567 - 06:11

  • รอกันตั้งแต่ปีที่แล้ว เงิน 10,000 บาทดิจิทัล จากรัฐบาล

  • นโยบายรัฐบาลยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ว่าจะเป็นจบอย่างไร

  • ป.ป.ช.แจงเสี่ยงขัดกฎหมาย รอนายกฯสรุปว่าเดินต่อ หรือ พอแค่นี้

digital-money-10000-policy-government-forward-stop-SPACEBAR-Hero.jpg

มีรายงานข่าวเปิดเผยว่าถึงสาเหตุที่คณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ ที่เดิมจะมีการประชุมในวันที่ 16 มกราคม เวลา 15.30 น. โดยนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เดินทางไปต่างประเทศ มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมแทน แต่มีการเลื่อนการประชุมออกไปก่อน เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ซึ่งเป็นความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการเดินหน้าโครงการนี้

ภูมิธรรม เวชยชัย ยอมรับว่า การเลื่อนการประชุมออกไป เพราะจะมีการนำความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมด้วย จากเดิมจะมีการพิจารณาเฉพาะคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะได้พิจารณาเรื่องต่างๆ ให้รอบคอบ และอยากรอให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กลับมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการชุดนี้ด้วยตัวเองด้วย

สาระสำคัญของความเห็นของ ป.ป.ช. คือ เตือนว่าการแจกเงินดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง ที่ระบุว่าจะไม่กู้เงิน แต่ภายหลังจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยอ้างว่าต้องดำเนินการเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ ป.ป.ช. มองว่า นโยบายที่หาเสียงและแถลงต่อสภา ไม่ตรงกับที่ปฎิบัติจริง และไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลชัดเจนอาจเป็นกรณีตัวอย่างของการหาเสียง ที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 73 (1) หรือมาตรา 136 วรรคหนึ่ง

นอกจากนี้ ประโยชน์ที่จะได้จากโครงการก็ยังไม่ชัดเจน มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่การกำหนดเงื่อนไขในการขึ้นเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อาจจะมีความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้

ขณะเดียวกันการกู้เงินถึง 5 แสนล้านบาท ทำให้ป.ป.ช. มองว่าอาจจะเป็นความเสี่ยงต่อภาระการคลังในอนาคต และที่สำคัญเสี่ยงผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ มีการบัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต การแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

โจทย์ใหญ่ในตอนนี้ จึงกลับมาทึ่จุดเดิมว่า รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา จะยังคงพยายามเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ ท่ามกลางแรงต้านจากหลายฝ่าย และหากพยายามผลักดันต่อไปก็อาจจะต้องเผชิญกับคดีความ ซ้ำรอยกับหลายๆโครงการในอดีตเช่นโครงการรับจำนำข้าว ที่มีปัญหาคดีความตามมามากมาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์