ยกฟ้อง คดีรถไฟฟ้าสีส้ม ศาลฯ ชี้ประมูลชอบด้วยกฎหมาย

12 มิ.ย. 2567 - 12:04

  • ศาลชี้แล้ว คดี บีทีเอส ฟ้อง รฟม. ประมูลโครงการก่อสรร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ศาลฯ ‘ประมูลชอบด้วยกฎหมาย’

  • รฟม. เตรียมเดินหน้าเซ็นสัญญา BEM เพื่อสร้างต่อ ชี้ โครงการล่าช้ามานานแล้ว

dismiss-case-court-auction-orange-line-correct-SPACEBAR-Hero.jpg

ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา ‘ยืน’ ตามศาลปกครองกลาง พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน กรกฎาคม 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นให้ บีทีเอส เสียหาย 

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด

อีกทั้ง มติของ คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. มีประกาศดังกล่าว นั้น  หรือมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. ในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ในการคัดเลือกเอกชน เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองทั่วไป คือ ประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาทในครั้งนี้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ บีทีเอสซี ที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกประกาศเชิญชวนที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงพิพากษายกฟ้อง 

จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ ทำให้ รฟม. เตรียมลงนามสัญญา กับผู้ชนะประมูล (บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐ) ได้ต่อไป หรือภายในปีนี้ ภายหลังต้องเสียเวลามานานแล้ว และทำให้ภาพรวมโครงการก็ล่าช้ามาหลายปี ดังจะเห็นภาพงานโยธาส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 1 ปี ค้างเติ่งไว้เพียงแค่นั้น หากสามารถเร่งลงนามสัญญาได้ จะส่งผลให้เอกชนสามารถจัดหาขบวนรถและเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้โดยเร็ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์