โยธาฯ ห้ามใช้อาคารเพิ่มเป็น 52 แห่ง ชี้ กทม.2 - ตจว.50

6 เม.ย. 2568 - 03:16

  • โยธาฯ สั่งระงับใช้อาคารเพิ่มเป็น 52 แห่ง

  • ชี้ เป็นอาคารในกรุงเทพฯ 2 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 50

  • ระบุ แผ่นดินไหว ทำโครงสร้างเสียหาย ไม่ปลอดภัย

dpt-earthquake-52-buildings-do-not-use-bangkok-2-provinces-50-SPACEBAR-Hero.jpg

กรมโยธาธิการฯแจ้งผลตรวจอาคารหน่วยงานรัฐและบ้านเรือนที่พักของประชาชนหลังแผ่นดินไหวใหญ่ เขย่าไทยค่อนประเทศรวม 6,276 แห่ง ชี้ตรวจแล้วพบส่วนใหญ่ใช้งานได้ปกติ มีที่โครงสร้างเสียหายหนัก ต้องระงับการใช้งาน 52 อาคาร อยู่ในต่างจังหวัด 50 อาคาร กรุงเทพฯ 2 อาคาร

กรณีไทยได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดิน ไหวครั้งใหญ่ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ได้รับความเสียหาย เกิดรอยร้าวเป็นจำนวนมาก 

ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน จำนวน 89 คน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย พร้อมแจ้งผลตรวจสอบล่าสุด (5 เม.ย.68) ว่า ในการตรวจสอบได้ทำการแบ่งอาคารตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารสาธารณะ อาคารชุมชน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการ ในเขต กทม. ผลการตรวจเมื่อวันที่ 4 เม.ย.จำนวน 11 หน่วยงาน จำนวน 37 อาคาร พบว่า
- สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 35 อาคาร
- มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 2 อาคาร 
- สีแดง ไม่มีอาคารที่มีความเสียหายอย่างหนักและระงับการใช้อาคาร 

ส่วนผลสรุปการตรวจสอบอาคาร ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-4 เมษายน 2568 จำนวน 186 หน่วยงาน จำนวน 535 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 489 อาคาร/ มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 44 อาคาร/ โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 2 อาคาร

อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน อาคารเหล่านี้ เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แนะนำให้เจ้าของอาคารให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง

อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผ่าน Traffy Fondue ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2568 ได้รับแจ้งทั้งหมด 18,089 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จ 16,569 เรื่อง

สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคารร่วมกับวิศวกรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลาง และให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาลหรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร 

ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 5,741 อาคาร 
- สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 5,393 อาคาร
- มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 298 อาคาร
- สีแดง โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก ได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 50 อาคาร

สรุปผลการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม- 4 เมษายน 2568 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 6,276 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ (สีเขียว) จำนวน 5,882 อาคาร, มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ (สีเหลือง) จำนวน 342 อาคาร และอาคารโครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร (สีแดง) จำนวน 52 อาคาร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์