สนค. แนะเร่งยกระดับโคเนื้อไทย คุณภาพ & มาตรฐาน ไม่แพ้ชาติใดในโลก

16 มี.ค. 2567 - 08:00

  • ต้องเชื่อมโยงสินค้าโคเนื้อไทยกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้น

  • เร่งโปรโมทคุณภาพโคเนื้อไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

economic-beef-softpower-SPACEBAR-Hero.jpg

ความนิยมในการบริโภคสินค้าเนื้อโคของโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถิติตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ที่พบว่าปริมาณการนำเข้าเนื้อโคของโลก เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 3.24% ต่อปี โดยไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อสำหรับการค้าและการบริโภคในประเทศ

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีความต้องการนำเข้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สนค. แนะภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือเก็บข้อมูลวิจัยตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อวางกลยุทธ์การผลิตเชื่อมโยงการตลาดการค้าสินค้าโคเนื้อ สร้างความเชื่อมั่น และสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้รู้จักและหันมาบริโภคเนื้อโคของไทย ควบคู่กับการเตรียมพร้อมในการสร้างมาตรฐานเทียบเท่าโคเนื้อในตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและโอกาสในการส่งออกโคเนื้อของไทยให้มากขึ้น

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติปี 2566 พบว่าโลกมีการนำเข้าเนื้อโคกว่า 10.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.85% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ประเทศที่มีการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ จีน 3.60 ล้านตัน (+2.80%) สหรัฐอเมริกา 1.64 ล้านตัน (+6.70%) และญี่ปุ่น 0.75 ล้านตัน (–3.47%) ส่วนไทยแม้จะมีผลิตภัณฑ์โคเนื้อเพื่อการค้าทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ

จากสถิติการนำเข้าปี 2566 ไทยมีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์รวมกว่า 49,253 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,754.94 ล้านบาท ซึ่งทั้งปริมาณและมูลค่าลดลง 11.68% และ 12.97% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ปี 2565 มีการนำเข้า 55,770 ตัน เป็นมูลค่า 8,910.92 ล้านบาท) 

ประเทศที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด

  • ออสเตรเลีย มูลค่า 5,402.75 ล้านบาท (21,449 ตัน) 
  • ญี่ปุ่น มูลค่า 782.77 ล้านบาท (21,450 ตัน) 
  • นิวซีแลนด์ มูลค่า 740.26 ล้านบาท (4,719 ตัน) 

ผู้บริโภคไทยนิยมเนื้อโคเกรดพรีเมียม ชิ้นเนื้อใหญ่ เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก (Marbling) ส่วนเนื้อโคสายพันธุ์ที่นิยมบริโภค เช่น เนื้อวากิวญี่ปุ่น เนื้อแองกัสออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต 

พูนพงษ์ กล่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพมาตรฐานด้านการผลิต ล่าสุด เดือนธันวาคม 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข้อมูลว่าประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 1.4 ล้านราย ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน ขณะที่ผลิตโคเนื้อได้มากกว่า 9.57 ล้านตัว และพยายามปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อที่เลี้ยงในไทย ให้สามารถผลิตเนื้อที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น อาทิ เนื้อโคขุนโพนยางคำจากจังหวัดสกลนคร เนื้อโคราชวากิว นอกจากนี้ เนื้อโคคุณภาพดีของไทยยังได้รับคัดเลือกให้เป็นเมนูอาหารขึ้นโต๊ะต้อนรับผู้นำระดับโลกในการประชุม “APEC 2022” ขณะเดียวกัน มีการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ “โคดำลำตะคอง” จากนวัตกรรมการผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ โคพื้นเมือง วากิว และแองกัส ถือเป็นตัวอย่างการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง รองรับความต้องการบริโภคในประเทศที่เปลี่ยนไปในทิศทางพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต 

นอกจากการยกระดับคุณภาพมาตรฐานเพื่อทดแทนการนำเข้าแล้ว สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย คือ การเตรียมความพร้อมในการยกระดับเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าโคเนื้อให้มากขึ้นในอนาคต ปัจจุบันตลาดที่น่าสนใจสำหรับไทยคือตลาดในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดอันดับสองของโลก (รองจากสหรัฐฯ)

ข้อมูลล่าสุด พบว่า ในปี 2566 ปริมาณการผลิตเนื้อวัวของจีนอยู่ที่ 7.50 ล้านตัน2 ขณะที่ ความต้องการบริโภคของจีนมีมากถึง 11.06 ล้านตัน2 แสดงให้เห็นว่า แม้จีนจะผลิตโคเนื้อเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตเร็ว ประกอบกับราคาเนื้อวัวนำเข้ามีราคาต่ำกว่าในประเทศ ทำให้จีนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การนำเข้าของจีนให้ความสำคัญต่อทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ ต้องมีปริมาณเพียงพอ มีมาตรฐานและมีการรับประกันคุณภาพด้วย ขณะเดียวกัน จีนก็มีข้อจำกัดในการนำเข้า อาทิ เป็นสายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง แองกัส ชาร์โรเล่ส์ บราห์มัน ซิมเมนทอล แบรงกัส หรือพันธุ์พื้นเมืองของไทย ลาว อินเดีย และมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม วัวต้องแข็งแรง กล้ามเนื้อแน่น แผ่นหลังมีเนื้อเต็ม ผิวลื่นสวย และต้องปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FDM) และโรคติดต่ออื่น ๆ จึงถือเป็นโอกาสของไทย ซึ่งไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมในเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเชือดเพื่อส่งออก วัคซีน และการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของโคเนื้อ เพื่อรองรับการผลิตจำนวนมาก การดูแลและรักษาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และปลอดภัยตามข้อกำหนดของจีน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์