โรงแรมดุสิตธานี ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย หญิงเหล็กของธุรกิจโรงแรมไทย และมีการส่งต่อให้กับทายาท 3 คน แต่ทุกทั้งหมดถูกรวมกันใน ‘กงสี’ ของตระกูลในบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด ทายาททั้งหมดต่างถือหุ้นในบริษัทกงสีเป็นหลัก
การถือหุ้น บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด แบ่งไปในกลุ่มทายาท
กลุ่มตระกูลโทณวณิก นำโดย ชนินทธ์ โทณวณิก บุตรชายคนโต ถือหุ้นรวม 26.66% ชนินทธ์ เองถือหุ้น 25.40% ส่วนที่เหลือเป็นของณัฐพร ศิรินันท์ และศิรเดช โทณวณิก ถือคนละ 0.42%
กลุ่มตระกูลเธียรประสิทธิ์ นำโดย สินี เธียรประสิทธิ์ บุตรสาวคนที่สอง ถือหุ้นรวม 26.65% สินี เองถือหุ้น 26.57% ส่วนที่เหลือเป็นของณัฐสิทธิ พัฒนีพร, ลลิตา เธียรประสิทธิ์ และภมรศักดิ์ เธียรประสิทธิ์ สินี แต่งงานกับ ฐิตินันท์ เธียรประสิทธิ์
กลุ่มตระกูลสาลีรัฐวิภาค นำโดย สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค บุตรสาวคนที่สาม ถือหุ้นรวม 21.68% โดย สุนงค์ เองถือหุ้น 21.62% ที่เหลือเป็นของชลิตา ภัทรพรรณ ภัทรพร และภัทร สาลีรัฐวิภาค
สุนงค์ แต่งงานกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในเวลานี้
การบริหารงาน และดูแลดุสิตธานี อยู่กับชนินทธ์ โทณวณิก ที่เป็นตัวหลัก โดยมีน้องสาวคนที่สอง สินีคอยช่วยเหลือกัน
ความขัดแย้งในการบริหารโรงแรมดุสิตธานี ต้องบอกว่าเกิดจากความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้อง 3 คน โดยเฉพาะกลุ่มของ ชนินทธ์ โทณวณิก และ สินี เธียรประสิทธิ์ ที่เคยร่วมมือกันมาตลอด และทั้งสองกลุ่มถือหุ้นในบริษัทกงสีในสัดส่วนใกล้เคียงกัน จึงเกิดการพลิกขั้วอำนาจ โดย สินี กลับไปร่วมมือกับน้องสาวคนสุดท้อง สุนงค์ เพื่อได้มีเสียงข้างมากตามสัดส่วนหุ้นที่เพิ่มขึ้น
ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายคือ บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด ไม่อนุมัติงบการเงินประจำปี 2567 แม้จะผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว
การไม่อนุมัติงบดังกล่าวอาจทำให้บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2568 ได้ทันตามกำหนด และเสี่ยงต่อการถูกตลาดหลักทรัพย์ติดเครื่องหมาย SP
จุดแตกหักคือการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่ ชนินทธ์ โทณวณิก ผู้บริหารคนสำคัญของดุสิตธานี ถูกถอดออกจากการเป็นกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่ 2 คน คือภัทร สาลีรัฐวิภาค (ตระกูลสาลีรัฐวิภาค) และลลิตา เธียรประสิทธิ์ (ตระกูลเธียรประสิทธิ์)
ทำให้กรรมการในปัจจุบันประกอบด้วย สินี เธียรประสิทธิ์ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค ลลิตา เธียรประสิทธิ์ และภัทร สาลีรัฐวิภาค เพียง 2 ตระกูล ไม่มีชื่อของชนินทธ์ โทณวณิก และตระกูลโทณวณิก เป็นกรรมการบริษัทอีก รวมทั้งไม่มีอำนาจในการลงนาม และบริหารจัดการในบริษัทอีกต่อไป
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ได้ชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดความกังวลของผู้ลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้
บริษัท ขอยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุปสรรคชั่วคราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการภายในของผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัท ไม่สามารถก้าวล่วงหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมแทนผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาตามบทบาทที่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 นี้
ทั้งนี้ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
นางศุภจี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยืนยันว่าผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ดุสิตธานีฯ คือ ตัวเอง ไม่ใช่บุคคลในข่าวหรือผู้ถือหุ้นทั่วไป ตามหน้าที่หลักในการบริหารบริษัท มองว่า “ดุสิตธานี” ไม่ได้เป็นแค่บริษัท แต่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการนำความเป็นไทยออกสู่สายตาต่างประเทศเพื่อสร้างความประทับใจ
‘ทั้งนี้หวังใจว่าผู้ถือหุ้นที่อาจมีข้อขัดแย้ง จะสามารถเจรจากันได้ และเชื่อว่าทุกคนพร้อมเป็นตัวกลาง ที่พร้อมเข้าไปชี้แจงสถานการณ์ธุรกิจของดุสิตธานีตามบทบาทที่ทำได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ด้วยการมองถึงส่วนรวมเพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อตามวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้ง’ เธอกล่าวในที่สุด