บริษัทเทคลงทุนไทย ยาหอมหรือของจริง

2 พ.ค. 2567 - 09:28

  • บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั้งฝั่งอเมริกา และเอเชีย มองประเทศไทย

  • รายใหญ่วางแผนลงทุน สร้างงาน พัฒนาคน และระบบ

  • ความคาดหวังก็คือ เดินหน้าทำโครงการจนสำเร็จ อย่าหายเงียบไประหว่างทาง

economic-google-mircosoft-amazon-SPACEBAR-Hero.jpg

ความคึกคักจากความร่วมมือ และการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น Google, MircoSoft, Amazon  ที่น่าสนใจทั้งตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน และความสำคัญของไทย ดูกันว่าช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนจากที่ไหนบ้าง แล้วปรากฎการณ์นี้จะเดินหน้าจนสุดทาง หรือเงียบหายไป

เริ่มจาก อเมซอนเว็บเซอร์วิส ที่ประกาศการลงทุน ทำดาต้าเซ็นเตอร์ ในประเทศไทยไทย มีตัวเลขมูลค่าการลงทุนที่ประกาศ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 190,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาลงทุน 15 ปี 

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการทำดาต้าเซ็นเตอร์แต่อย่างใด 

ล่าสุดไมโครซอฟท์ ประกาศจะตั้ง Data center  ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย แถมด้วยโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคลาวด์และAI  แต่ไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุน ไม่มีความชัดเจนในกรอบเวลา 

เบื้องต้นคาดกันว่า ศูนย์ที่ตั้งในประเทศไทย จะเหมือนกับ Regional Azure Datacenter ที่ไมโครซอฟท์ เคยตั้งในสิงคโปร์และฮ่องกง เรื่องนี้อาจสะท้อนว่า ไมโครซอฟท์มองไทยเป็นตลาดสำคัญที่จะขยายไปใน เมียนมา ลาว เวียดนาม และกัมพูชา 

ในขณะที่ไมโครซอฟท์ แถลงเรื่องการลงทุนใทย  แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องเวลา การลงทุน แต่ประกาศการลงทุนที่ชัดเจนในมาเลเซีย  และอินโดนิเซีย

โดยในมาเลเซีย ลงทุน 2.2 พันล้านดอลล่าร์  สร้างทักษะด้าน AI ให้กับคนในประเทศ 200,000  คน   ส่วนอินโดนิเซีย ลงทุน 1.7 พันล้านดอลล่าร์  สร้างทักษะด้าน AI ให้กับคนในประเทศ 840,000  คน   

การลงทุนทั้งสามประเทศ  คือ การสร้างระบบ Cloud Computing และ AI 

ก่อนหน้าการประกาศของไมโครซอฟท์ไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริษัท หัวเว่ย ประจำเอเชีย-แปซิฟิก เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ เศรษฐา ได้ขอให้ Huawei ขยายความร่วมมือการลงทุน ด้านดิจิทัลกับภาครัฐ และเอกชน 

หัวเว่ยถือเป็น บริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในไทยเยอะมาก มีการลงทุน ทำศูนย์ข้อมูลการให้บริการคลาวด์แห่งที่สามในประเทศไทย ทำให้หัวเว่ยที่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศถึงสามแห่ง  และลงทุน 475 ล้านบาทในโปรเจ็ค 5G EIC เพื่อพัฒนานวัตกรรม 5G

ฝั่ง Google ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล และเร่งให้เกิดAI  ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2566 ตอนประกาศ ไม่มีตัวเลขเงินลงทุน แค่บอกว่า 

‘ต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล’ นอกนั้นเป็นสิ่งที่ Google ต้องทำอยู่แล้วในฐานะแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ การวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์หรือการทำให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัล

ต่างชาติคาดหวังอะไรจากการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่มีใครรู้แน่ถึงเงื่อนไขความร่วมมือ มีแต่กรอบกว้าง ๆ นโยบายนามธรรม สิ่งที่บริษัทเทครายใหญ่ได้คือ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่รักประเทศไทย การให้บริการที่ไม่ต้องตอบคำถามเรื่อง ภาษีจากรายได้ที่ทำได้ในประเทศไทย ส่วนที่ผลิตเทคโนโลยี แน่นอนว่าบริษัทเหล่านั้นย่อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการไฮเทคสำคัญ

การลงทุนของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ อาจทำให้จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่  การพัฒนาบุคลากร เร่งสปีดบริษัทเทคสตาร์ทอัพให้พัฒนาไปได้เร็วขี้น โอกาสในการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น  ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลโตเร็วขึ้นด้วยดึงดูดการลงทุน ข้อความสวยหรูเหล่านี้ปรากฎอยู่ในข่าวความร่วมมือ แต่การที่คนไทยจะได้สิ่งเหล่านี้ต้องพร้อมพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

การพัฒนาความร่วมมือ เมื่อตอนแถลงข่าว หรือประกาศดูยิ่งใหญ่  และน่าสนใจ  แต่หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เงียบหายไป  ความคืบหน้าไม่ค่อยมี ที่สำคัญการเข้ามาของบริษัทเทคขนาดใหญ่ ทุกคนมองแต่ข้อดี  แต่อย่าลืมสิ่งที่ต้องจ่ายด้วย ในโลกของทุนนิยม ของฟรีไม่มีในโลก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์