คนรุ่นใหม่ไม่เน้นมีลูก เข้าสู่สังคมคนสูงวัย-หวั่นขาดแรงงาน

28 ก.ย. 2566 - 10:42

  • ความจริงที่น่าตระหนก เด็กเกิดใหม่ปีนี้ต่ำกว่า 5 แสนคน

  • สวนทางคนแก่เต็มเมือง หวั่นกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาว

  • ในอนาคตอาจต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น

economy-bot-new-generation-thailand-labor-shortage-baby-SPACEBAR-Hero.jpg

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความของ ศิริพงษ์ ไข่มุก และกิ่งกาญจน์ เกษศิริ นักวิชาการจากฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ในหัวข้อ “สังคมไทยจะทำอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก” ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างประชากรของไทย ที่กำลังมีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดที่ต่ำมาก ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ในอนาคต

ในรายงาน ระบุว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2566 คาดว่า จะต่ำกว่า 5 แสนคน(จากเป้าหมายจำนวน 7 แสนคน) และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ส่งผลให้ปัญหาเด็กเกิดน้อยกลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะมีผลกระทบที่ตามมาทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น กำลังซื้อและการบริโภคที่ลดลง จำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น และกระทบความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของไทย รวมไปถึงภาครัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ตลอดจนความผูกพันในครอบครัวและสังคมจะน้อยลงเพราะครอบครัวเดี่ยวจะเพิ่มขึ้น ครอบครัวขยายจะน้อยลง ความใกล้ชิดในเครือญาติเช่นในอดีตจะลดลง 

สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่มีลูก หรือมีน้อยลง มีทั้งวิถีชีวิตและทัศนคติในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้น มีความหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญ คือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทัน

มีการประมาณการภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลที่สูงถึงประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อคน หรือคิดเป็น 6.3 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปีของประชากร (GDP per capita) ในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหากเข้าเรียนในสถานศึกษาของเอกชน ทำให้คนตัดสินใจมีลูกน้อยลง

ในขณะที่สวัสดิการพื้นฐานมีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ยังจำกัดเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูลูกเพื่อลดหย่อนภาษีที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ หรือความยืดหยุ่นของการใช้สิทธิ์วันลาเพื่อเลี้ยงดูลูกหลังคลอด รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นสำหรับเด็ก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ สนามเด็กเล่น ล้วนแล้วแต่ต้องได้รับการลงทุนจากภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ในราคาไม่แพง

คำถามสำคัญ คือ ภาครัฐควรทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจที่จะมีลูก ซึ่งมีการนำแนวนโยบายที่น่าสนใจของประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำแบบเดียวกับไทยมานำเสนอ

นานาประเทศกับนโยบายหนุนให้มีลูก

เกาหลีใต้และญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยที่สุดในโลก มีนโยบายที่คล้ายกัน คือ เพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของแม่ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด 

เกาหลีใต้ ให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานต่อวันลง 2 ชั่วโมงสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในช่วงแรกและใกล้คลอด รวมถึงให้สิทธิ์ลาเลี้ยงลูกโดยไม่รับเงินเดือนได้ถึง 1 ปี ซึ่งสามารถแบ่งลาเป็นช่วงได้จนเด็กอายุถึง 8 ปี 

ญี่ปุ่น ให้ลาได้ 6 สัปดาห์ก่อนคลอดและ 8 สัปดาห์หลังคลอด รวมถึงมี Angel plan ที่เป็นบริการให้คำปรึกษาและสอนพ่อให้มีบทบาทในการช่วยเลี้ยงดูลูกด้วย ซึ่งช่วยลดความเครียดของพ่อแม่มือใหม่ได้

สิงคโปร์ ให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กเกิดใหม่ทุกคน หรือเบบี้โบนัส จำนวน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (200,000 บาท) ต่อเด็ก 1 คน และเพิ่มขึ้นในลักษณะขั้นบันไดสูงสุดถึง 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (250,000 บาท) สำหรับลูกคนที่สาม ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินในช่วง 6 ปีแรกเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู นอกจากนี้ รายจ่ายในการเลี้ยงดูลูกยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ ตั้งแต่ 5-15% สูงสุด 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (250,000 บาท)

ในรายงาน ระบุว่าการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยต้องใช้หลายนโยบายผสมผสานกัน ทั้งช่วยเหลือด้านการเงิน และสร้างสภาวะแวดล้อมอื่นที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็กได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งภาครัฐจะมีบทบาทในการให้สวัสดิการพื้นฐานที่ดีและแบ่งเบาภาระค่าเลี้ยงดู รวมถึงจูงใจให้ภาคเอกชนในฐานะนายจ้างจัดสวัสดิการในที่ทำงานให้ลูกจ้างอย่างเหมาะสม โดยนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน จัดเตรียมสถานที่ให้นมแม่และอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถพักไปปั๊มนมได้ระหว่างวัน หรือมีเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่สามารถทำงานได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเลี้ยงลูกมากนัก นอกจากนายจ้างจะได้ประโยชน์ทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงานและลดโอกาสการลาออกของพนักงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาวด้วย เพราะวันหนึ่งเด็กรุ่นนี้จะกลับมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม นโยบายเพิ่มประชากรจำเป็นต้องกระทำอย่างรอบคอบ เพื่อระมัดระวังผลที่ไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นจากการทำนโยบายด้วย เช่น ผู้ที่ยังไม่พร้อมก็อาจตัดสินใจมีลูกเพียง เพื่อต้องการเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ประชากรที่ไม่มีคุณภาพได้ 

ดังนั้น นโยบายและสวัสดิการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องเริ่มคิดและลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างประชากรคุณภาพที่เป็นกำลังสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า

ข่าวน่าสนใจ

สิ้นสุดทางเลื่อน 4 อรหันต์ บอร์ด กนง.

ช่วยลดดอกเบี้ย 3% วงเงินกู้รวม 2,000 ล้าน

ความชัดเจนของนโยบาย ช่วยเพิ่ม GDP โตได้แน่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์