สิ้นสุดทางเลื่อน 4 อรหันต์ บอร์ด กนง.

28 ก.ย. 2566 - 10:23

  • 4 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนง. หมดวาระวันที่ 1 พ.ย.66

  • จับตารายชื่อกรรมการ กนง.ชุดใหม่ ผู้กำหนดนโยบายการเงิน

economy-monetary-policy-committee-bot-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี  ในวันที่ 1 พ.ย.2566 จำนวน 4 ท่าน คือ ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน, รพี สุจริตกุล, สมชัย จิตสุชน และสุภัค ศิวะรักษ์ โดยการประชุมครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 27 กันยายน 2566 นับเป็นการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายอย่างเป็นทางการก่อนจะหมดวาระ ส่งผลให้ทางคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง 

เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งถึงรายชื่อของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ กนง.ชุดใหม่ เนื่องจากเป็นการทำงานของผู้กำหนดนโยบายการเงินในห้วงที่ท้าทาย ในช่วงแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านทิศทางนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด คือ การขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องมาสู่การเข้าโหมดภาวะปกติตามที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณการปรับสู่ Policy Normalization และเป็นไปตามทิศทางของนโยบายการเงินของธนาคารกลางในระดับโลก อย่างไรก็ตามความท้าทายอยู่ที่ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นจากราคาพลังงานในตลาดโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีแนวคิดดำเนินนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย โดยการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งสวนทางกับแนวคิดการทำนโยบายการเงินของธปท.ในปัจจุบัน

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน  โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ

การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ ธปท.นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่คณะกรรมการ ธปท.แต่งตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน เป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

อำนาจหน้าที่ของ กนง.

  1. กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
  2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
  3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
  4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่น่าสนใจ

แรงงานพม่าร้อง บีบโอนเงินผ่านระบบ 25%

ขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งติด สัญญาณสิ้นสุดวัฏจักรขาขึ้น ถึงปี 67

มิจฉาชีพ เล่นใหญ่ อ้าง ‘เศรษฐา’ ยกพนันออนไลน์ถูก กม.

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์