ฟัน! นิติบุคคล ‘นอมินี’ 8 ราย ทำประเทศเสียหาย

15 ธ.ค. 2566 - 08:33

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงดาบ ‘นอมินี’ต่างชาติ 8 ราย

  • จับตา 'นิติบุคคล' ร่วมทุนต่างชาติอีก 26,000 ราย

  • ย้ำ ปราบทุนเทา ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพิ่ม

RM407518.jpg

ฟัน! นิติบุคคล ‘นอมินี’  8 ราย ทำประเทศเสียหาย จับตานิติบุคคลร่วมทุนต่างประเทศอีก 26,000 ราย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  เปิดเผยว่า กรมฯ เดินหน้าปราบ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลที่มีลักษณะนอมินีในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในปีงบประมาณ 2565-2566 พบนิติบุคคลที่คนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 40% จำนวน 15,000 ราย ในจำนวนนี้มี 400 ราย ที่ถูกตรวจสอบในเชิงลึก ลงพื้นที่ไปดูในรายละเอียด

พบว่ามี 8 ราย ประกอบธุรกิจ เช่น โรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์  อยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพ และชลบุรี (พัทยา) ทั้ง 8 รายถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตาม พรบ.ต่างด้าว ม.36 ม.37 ม.41 แล้ว ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ1แสน-1ล้านบาท และปรับรายวัน 1.5-5 หมื่นบาท พบหลากหลายสัญชาติ เช่น จีน และรัสเซีย 

และที่น่าสนใจ ปีงบประมาณ 2566-2667 พบนิติบุคคลที่คนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 40% จำนวน 26,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว 9 จังหวัด อยู่ระหว่างการจับตาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

RM407639.jpg

นิติบุคคลที่คนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 40% ถือว่ายังเป็น ธุรกิจคนไทย แต่เราก็จะทำการตรวจสอบเชิงรายละเอียด ที่ตั้ง ถ้าคิดว่ามีข้อมูลต้องสงสัย ก็จะลงพื้นที่ กรณีท่องเที่ยวเราทำกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจะลงพื้นที่เชิงเลิก เช่น เชียงใหม่ สงขลา สมุย ภูเก็ต พัทยา

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

โดยที่ผ่านมาได้ลงนามใน MOU ร่วมกัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ระหว่าง 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

ภารกิจของการลงนาม MOO คือ การดำเนินงานด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล การกำกับดูแลและการป้องปราม การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และการจัดศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาฯ มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น กรมฯ ย้ำว่า ยังคงให้ความสำคัญต่อการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และเกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการเข้ามาของกลุ่มทุนผิดกฎหมาย  

พร้อมส่วนข้อกังวลที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า กฎระเบียบและกฎหมายที่มีของ กรมพัฒนาธุรกิจ ยังไม่เข้มงวดพอ ยังมีช่องโหว่ ทาง อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันว่า เบื้องต้นกฎหมายของกรมฯมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ประกอบการการทำ MOU จะช่วยให้ทุกหน่วยงานนำกฎหมายที่บังคับใช้ได้มาปฏิบัติงานร่วมกัน เช่น ตำรวจตรวจคำเข้าเมือง ดูเรื่อง การเข้าเมือง ระยะเวลาของวีซ่า

เบื้องต้นกฎหมายของเรามีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่เราต้องมาคุยในรายละเอียด ว่าเราทำงานร่วมกันแล้ว ถ้าจุดไหน อยากจะเสริมอะไร ค่อยมาดู

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ส่วนในระยะระยะกลาง กรมฯ ได้วางแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียน โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล กรมฯ จะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าวเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วกรมฯยังกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นแผนงานโครงการตรวจสอบประจำปี โดยคัดเลือกกลุ่มเสี่ยงที่มีข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นการประกอบธุรกิจตามบัญชีท้ายโดยให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เช่น ธุรกิจที่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 50 ธุรกิจมีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ การกำหนดให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น 

นอกจากนี้ กรมฯ ยังนำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจตัวอย่างเช่นการกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าวโดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไปมาประกอบการพิจารณาด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์