กลยุทธ์ Collab แบรนด์ดัง ยกระดับมูลค่ากางเกงจว.ได้ 300 %

18 กุมภาพันธ์ 2567 - 06:02

Economy-Collab-strategy-with-famous-brand-    Raise-the-value-Provincial-pants-get-300-percent-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เปิดตัว กางเกงจันท์ Chanthaburi Original x Greyhound Original

  • ยกระดับมูลค่าสินค้า 300 % หนุนเศรษฐกิจชุมชน

  • ผ่านแนวคิดสร้างแบรนด์จว. ด้วย Creative Economy

แนวคิด 1 จังหวัด 1 ลายกางเกง เป็นการชูเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมจังหวัดผ่านลวดลายที่ปรากฎออกมา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ภาคเอกชนก็ทยอยเปิดตัวกันออกมาต่อเนื่อง

ถามถึงจุดตั้งต้นของการผลิตตามๆกันมานั้น เกิดมาจาก ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นั่งเป็นรองประธานคณะกรรมการ ต้องการให้ทุกจังหวัดผลักดันวัฒนธรรมท้องถิ่น ขึ้นมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านสินค้าที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย อย่าง “กางเกง”

ขณะเดียวกัน จ.จันทบุรี ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเป็น 1 ใน 10 เมืองรองนำร่องสู่เมืองหลัก โดยมีมิติเศรษฐกิจที่ต้องถูกขับเคลื่อนยกระดับพร้อมๆกัน ทั้งด้านผลไม้ อัญมณี อาหาร และด้านการท่องเที่ยว

จากหลักกการเบื้องต้น อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ยอมรับว่า ช่วงแรกที่รับโจทย์มาก็พยายามระดมความคิดเห็นเพื่อหามุมมองการนำเสนอที่แตกต่าง และหวังสร้างยั่งยืนด้านเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จึงตัดสินใจเริ่มด้วยการวางกลยุทธ์การสร้างแบรนด์จังหวัด ด้วยแนวคิด Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดยมีไอเดียมาจาก ตัวการ์ตูนมาสคอต คุมะมง ตัวการ์ตูนหมีสีดำมัน วงแก้มสีแดง ทูตด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาลสร้างตัวการ์ตูนให้เป็นที่รู้จักและโด่งดัง ต่อยอดเป็นสินค้าในชุมชน จนกลายเป็นคาแรคเตอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก และสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นพันล้านบาท

395380553_6737426036304443_6452132805979794905_n.jpg

แต่ถ้าทำทั้งที พี่ก็ไม่อยากทำเป็นแค่ กางเกงลายกระต่าย ออกมาแล้วจบเลย ที่สำคัญจังหวัดอื่นๆ เขาก็เปิดตัวเร็วกว่าด้วย มันก็เลยเป็นโจทย์ว่า พี่จะทำยังไง มันออกมามี Value และต่อยอดได้ พี่เลยมองแนวคิด Creative Economy และคิดกระบวนการต่อยอดให้ครบองค์ประกอบ โดยที่ กางเกงลายกระต่าย จะเป็นจุดเริ่มต้นของภาพใหญ่

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี

ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ระบุว่า นี่คือการเริ่มต้นสร้างแบรนด์จังหวัดจันทบุรี โดยมีคาแรคเตอร์ผ่านเส้นลาย ‘กระต่าย’ ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในตราประจำจังหวัดจันทบุรี ตั้งต้นให้เป็น Corporate Identity (CI) อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่ถูกกำหนดไว้ และ CI นี้ จะพัฒนาไปตามสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่จะถูกสร้างขึ้นในอนาคต 

โดยในระยะแรก หอการค้าจันทบุรี จะเปิดตัวสินค้า “กางเกงจันท์ Chanthaburi Original“ ที่มีลายกางเกงเป็น รูปกระต่ายถือไม้เคาะทุเรียน แต่ในอนาคตจะต่อยอดเป็นสินค้าอื่นๆที่สอดคล้องไปกับคำขวัญจังหวัดที่ว่า “น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสิน”

Economy-Collab-strategy-with-famous-brand-    Raise-the-value-Provincial-pants-get-300-percent-SPACEBAR-Photo01.jpg

ในอนาคต เจ้ากระต่ายตัวนี้แหล่ะ แทนที่จะถือ ไม้เคาะทุเรียน มันก็มา ทำท่าส่องพลอย แบกเป้ ไปเที่ยวน้ำตก สิ่งนี้ คือ การสร้างแบรนด์ผ่านคาแรคเตอร์ ด้วยการใช้แนวคิด Creative Economy

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี

กลยุทธ์การ Collab กับ Greyhound Original แบรนด์ระดับประเทศ ยกระดับมูลค่าสินค้าสูงกว่า 300 % ร่วมดันเศรษฐกิจจันท์มูลค่าแสนล้าน

ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ยึดแนวคิด Creative Economy เริ่มต้นด้วยการทำกลยุทธ์ Collaboration Marketing กับ Greyhound Original ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับประเทศ ที่มีความโดดเด่น ด้านการเปลี่ยนผ่านแฟซั่นแบบร่วมสมัย มาผสานเข้ากับเนื้อหาอัตลักษณ์ของจังหวัดที่โดดเด่น สะท้อนดีไซน์ที่ออกมาอย่างแตกต่าง ที่สำคัญกลยุทธ์การ Collab ร่วมกับ Greyhound Original สามารถเพิ่มมูลค่ากางเกงให้ราคาสูงกว่าคู่แข่งถึง 300 % โดยที่จังหวัดอื่นๆอาจจะจำหน่ายที่ราคาเริ่มต้น 300 บาท ขณะที่ “กางเกงจันท์ Chanthaburi Original “ จำหน่าย 990 บาท 

สำหรับเศรษฐกิจในพื้นที่จ.จันทบุรี ข้อมูลจากคลังจังหวัด ระบุว่าปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP มีมูลค่า 160,788 ล้านบาท คิดเป็น 0.9% ของ GDP ประเทศไทย โครงสร้างเศรษฐกิจเติบโตด้วย ภาคเกษตรกรรม 54% ภาคบริการ 39% และ ภาคอุตสาหกรรม 7% ขณะที่สินค้าสำคัญ คือ ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การค้าขายแดน การค้าและการเจียระไนพลอย และการใช้จ่ายภาครัฐ 

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า ต้นทุนทรัพยากรของจังหวัดจันทบุรี มีอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่หากเราสามารถนำแนวคิด Creative Economy มาเสริมในสินค้าด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบได้ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจในชุมชนเติบโตได้อีกมาก

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์