ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 ทาง CRG ผู้นำธุรกิจเชนร้านอาหารในไทย มองภาพรวมตลาดจะเติบโตอยู่ที่ราว 5-7% คิดเป็นมูลค่ารวม 480,000 ล้านบาท
โดย ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG แถลงข่าวในงาน CRG ประกาศยุทธศาสตร์ Empowering EXCELLENCE, Embracing SUSTAINABILlTY มุ่งหน้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมระบุว่า แม้ตลาดจะโต 5-7% แต่เชื่อว่าจากการทุ่มลงทุนในเครือ CRG ด้วยงบกว่า 1,000 ล้านบาท จะสามารถสร้างรายได้ได้ตลอดปี 2567 เติบโตขึ้นราว 14 % คิดเป็นมูลค่า 16,600 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปี 2566 ที่ผ่านมา มีความท้าทายจากสถานการณ์อ่อนไหว และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ ซีอาร์จี เติบโต 13% ปิดรายได้ทะลุ 14,500 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่มากกว่า 140 สาขา ภายใต้ 21 แบรนด์ รวมกว่า 1,600 สาขาทั่วประเทศ

โดยในปี 2567 โดยเตรียมขับเคลื่อนองค์กรเติบโต ชู 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย
1.GROW : เติบโตด้วยศักยภาพ เน้นการเพิ่มยอดขายจากการเร่งขยายสาขาใหม่ โดยเฉพาะแบรนด์ยอดนิยมในเครือที่มีศักยภาพ เช่น “เคเอฟซี” “อานตี้ แอนส์” “โอโตยะ” “คัตสึยะ” “ส้มตำนัว” “สลัดแฟคทอรี่” “ชินคันเซ็น ซูชิ” ตั้งเป้าทั้งปี 2567 รวมเปิดสาขาน้อยกว่า 100-120 สาขา
ขณะที่แบรนด์ในเครืออื่น ๆ จะเน้นการเพิ่มยอดขายของสาขาเดิม และมุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการออกสินค้ารสชาติใหม่ โปรโมชั่นสุดคุ้มโดนใจ รวมไปถึงวางแผนกลยุทธ์กระตุ้นการขายในบางช่วงเวลา
2.DRIVE : ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ภายใต้ 3C Actions ได้แก่
Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้พลังงาน
Capex เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด ตลอดจนการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดย ซีอาร์จี มีแผนเข้าสู่การเป็น Smart Restaurant อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้นททั้งการสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Ordering), การนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน, การนำเครื่องมือใช้วิเคราะห์ลูกค้า (Business Intelligence) เพื่อเข้าใจ และตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการวางแผนพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น KFC ชั้น 6 สาขาเซ็นทรัลเวิร์ด มีการนำร่อง Smart Restaurant นำระบบเทคโนโลยีมาใช้ เน้นลูกค้าบริการตนเอง และได้รับการตอบรับอย่างดี

3.BUILD : เสริมสร้างความแข็งแกร่ง เล็งเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญในกลุ่ม Joint Venture Partner โดยตั้งเป้าขยายมากกว่า 25 สาขา พร้อมเฟ้นหาแบรนด์ที่มีศักยภาพในการเติบโต ร่วมสร้างแบรนด์ดิ้ง เพื่อเสริมความแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ ซึ่งตามแผนงานบริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มอีก 2-3 แบรนด์ในปีนี้
โดย 3 ธุรกิจร้านอาหารในเครือ CRG ที่สามารถสร้างรายได้สูงที่สุด ถึงหลักพันล้านในปี 2566 ได้แก่ คือ ไก่ทอด KFC , มิสเตอร์โดนัท และร้านชินคันเซ็น ซูชิ ซึ่ง ชินคันเซ็น ถือเป็นธุรกิจในกลุ่ม Joint Venture Partner
โดย “ชินคันเซ็น ซูชิ” มีสาขาเพิ่มขึ้น 19 สาขา ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี และแตกธุรกิจปิ้งย่าง ภายใต้แบรนด์ “นักล่าหมูกระทะ” ซึ่งมีแผนจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มเร็ว ๆ นี้ รวมถึงแบรนด์ “ส้มตำนัว” มีสาขาเพิ่มขึ้น 2 สาขา ยอดขายเติบโต 400% และมีการเปิดร้านรูปแบบใหม่เป็น standalone ที่สาขาราชพฤกษ์ อีกด้วยและด้วยศักยภาพของร้านในอาหารในกลุ่ม Joint Venture Partner กิจการร่วมค้า ซึ่งทั้งหมดสามารถสร้างรายได้ถึง 2,200 ล้านบาท
ทาง CRG จึงเล็งเห็นศักยภาพของร้านอาหารกลุ่มนี้ โดยในปี 2567 มองหาธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆที่จะเข้าไปลงทุนโดยเฉพาะ ร้านอาหารประเภทสุกี้ชาบู และ ร้านปิ้งย่างยากินิกุ ที่ยัง CRG ยังมีน้อย แต่ก็ไม่ปิดโอกาสให้ร้านอาหารประเภทอื่นๆ
โดยมี 3 เงื่อนไขสำคัญ คือ 1.เจ้าของธุรกิจมึความมุ่งมั่น ที่ต้องการขยายธุรกิจเติบโต 2.เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่ 3. ธุรกิจสามารถเติบโตได้ 3-4 เท่า

ร้านอาหารที่เราสนใจเข้าไปถือหุ้นด้วย มี 3 เงื่อนไขสำคัญ คือ 1.เจ้าของที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อยากเติบโต 2.เป็นธุรกิจที่เติบโตได้ในอนาคต และมีศักยภาพที่เติบโต 3.จำนวนสาขาที่มี ไม่เยอะ หรือ น้อยจนเกินไป สามารถเติบโตได้ 3-4 เท่า
ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG
4. EXPEDITE : ผลักดันความยั่งยืนทุกมิติ : หนึ่งในพันธกิจสำคัญด้านความยั่งยืนของ ซีอาร์จี โดยมี C-R-G เป็น 3 แกนหลัก ได้แก่
Care for People & Partner การดูแลบุคลากร และ พันธมิตรด้านธุรกิจ เปิดกว้างรับความหลากหลายของพนักงานเข้าทำงานทั้งด้านเพศ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียม การสร้างสมดุลในการทำงานเพื่อให้พนักงานมีความสุข
Reduce Greenhouse Gases มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน พร้อมผลักดันให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดจากผู้บริหารสู่การปฏิบัติและลงมือทำของแบรนด์ต่าง ๆ และปลูกจิตสำนึกให้พนักงานของกลุ่มธุรกิจอาหาร โดยในปี 2566 ซีอาร์จี สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 357.45 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยได้นำพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
Green Waste & Environment ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหาร บริษัท สามารถควบคุมปริมาณขยะอาหารให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และในปีที่ผ่านมาการบริจาคอาหารส่วนเกินจากการจำหน่าย และการคัดแยกขยะอาหาร ยังช่วยลดปริมาณขยะอาหารก่อนนำไปฝังกลบได้ทั้งสิ้น 74,180 กิโลกรัม หรือเท่ากับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 187,680 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของร้านอาหาร ยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งนโยบายภาครัฐ เช่น เงินดิจิทัล รวมถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว หนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ ส่วนปัจจัยภานนอก เช่น การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจจีน ความยืดเยื้อของสถานการณ์สงคราม ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีการปานปลายรุนแรงอีกหรือไม่
นอกจากนี้ยังสถานการณ์ค่าแรงที่คาดว่า จะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงกลางปี แต่อย่างไรก็ตาม CRG ได้มีการรองรับสถานการณ์แล้ว เช่น เตรียมปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อยกระดับให้มีประสิทธิภาพ และนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ
อย่างไรก็ตามนอกจากความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการ พนักงาน ด้านพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน ยังรวมไปถึงผู้เล่นหน้าใหม่ที่ตบเท้ากันเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากกว่า 1 แสนร้านในปี 2566

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภาครัฐ พฤติกรรมการนั่งรับประทานอาหารในร้านกลับเข้าสู่จุดสมดุล 80% หรือสถานการณ์ใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้ประเมินว่าร้านอาหารในเครือ CRG จะเติบโตขึ้นราว 14 % คิดเป็นมูลค่า 16,600 ล้านบาทได้ในปี 2567