ร้อง ป.ป.ช.ตรวจแจกเงินดิจิทัล หวั่นความเสียหายซ้ำรอยจำนำข้าว

9 ต.ค. 2566 - 10:17

  • เสียงค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังไม่หยุด

  • เรียกร้อง ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบโครงการก่อนลงมือทำปีหน้า

  • โครงการจำนำข้าวยังหลอกหลอนระบบเศรษฐกิจอยู่ทุกวันนี้

economy-digital-wallet-government-national-anti-corruption-commission-SPACEBAR-Hero.jpg

อดีต กรรมการ ป.ป.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ศจ.เมธี ครองแก้ว กระตุกคณะกรรมการปปช. ให้เล่นบทบาทเชิงรุก เข้าไปตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัลหมื่นบาท ก่อนสร้างความเสียหายในระยะยาว เหมือนที่เคยเตือนเรื่องจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เตือนรัฐบาลอย่างฝืนเดิน “ลุยไฟ” ควร “ชักม้าที่ริมผา” เพราะอาจจะเจอบทสรุปที่ไม่สวย

ศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เผยแพร่บทความ ป.ป.ช.กับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลเศรษฐา 1 ให้ความเห็นว่า องค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ควรที่จะแสดงบทบาทในเชิงรุก ในการ “เตือน” รัฐบาลว่า หากยังตัดสินใจเดินหน้าดำเนินโครงการนี้ต่อไป อาจจะกลายเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 คือการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และผิดตาม มาตรา 6,7  และ 9 ของพรบ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 โดยทั้งสามมาตราได้ระบุไว้ชัดเจนดังนึ้

มาตรา 6 รัฐต้องดําเนินนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

มาตรา 7 การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

มาตรา 9 คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้ อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง 

การก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือ ประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิด ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

เห็นได้ชัดเจนในวรรคสุดท้ายของมาตรา 9 ว่า กฎหมายฉบับนี้เจาะจงที่จะป้องกันการใช้นโยบายประชานิยมที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่นนโยบายแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทในครั้งนี้

ศจ.เมธี ยังให้ความเห็นอีกว่า รัฐบาลอาจจะอ้างความชอบธรรมของการใช้นโยบายหรือทำโครงการนี้ตามหลัก “การกระทำทางรัฐบาล” (Act of Government) ตามหลักลัทธิการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อนุญาตให้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ หรือกึ่งตุลาการ เข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร เหมือนกับตอนทำนโยบายรับจำนำข้าวก็เช่นเดียวกัน 

แต่ถ้ารัฐบาลทำผิดกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ก็ย่อมอยู่ในอำนาจขององค์กรกึ่งตุลาการและตุลาการ เช่น ป.ป.ช. และศาลยุติธรรมที่จะเข้ามาแทรกแซงได้ ถ้าหากผลของการไต่สวนพบว่าการกระทำครั้งนี้มีความผิดแล้วส่งฟ้องศาลและศาลเห็นด้วย คนที่จะถูกลงโทษคงไม่ใช่ตัวนายกฯ คนเดียว แต่อาจจะหมายถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ รวมทั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คอยช่วยรัฐบาลทำนโยบายนี้ เหมือนกับที่เราเคยเห็นในโครงการรับจำนำข้าวก็เป็นได้ แต่ถ้า ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่ผิด รัฐบาลก็รอดตัวไป

ศจ.เมธี ซึ่งเคยเป็นอดีต กรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เปิดเผยอีกว่า ในตอนนั้นซึ่งยังไม่มี พรบ.วินัยการเงินการคลัง แต่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวในเวลานั้นผิดมาตรา 84(1) ของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีการเข้าชื่อกับบรรดานนักวิชาการหลายแหล่งกว่า 100 คน คล้ายกับสถานการณ์ในตอนนี้ เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งโครงการแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่เป็นไปตามขั้นตอนการยื่นคำร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ทำงานในเชิงรุกศึกษาโครงการดังกล่าว และได้ข้อสรุปว่าโครงการไม่น่าประสบความสำเร็จ และจะเกิดความเสียหายมหาศาล จึงมีมติให้ส่งหนังสือเตือน เป็นทางการไปยังนายกรัฐมนตรีฯยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง ให้ยุติโครงการดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสียหาย แต่ไม่เป็นผล เมื่อเกิดความเสียหายจริง และมีการทุจริตในโครงการอย่างมาก จึงมีการไต่สวนเอาผิดนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 

โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทในตอนนี้ ก็ดูจะมีรูปการณ์คล้ายคลึงกัน จนเป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากตัวนายกรัฐมนตรีฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในพรรคเพื่อไทยแล้วมีผู้สนับสนุนความถูกต้องเหมาะสมในทางเศรษฐศาสตร์น้อยมาก แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ไม่มีพรรคไหนแสดงตัวสนับสนุนนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยอย่างออกหน้าออกตา

ในบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีความเป็นกลางและมิได้มีส่วนได้เสียกับพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันเกือบจะเป็นเอกฉันท์ว่าโครงการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทของพรรคเพื่อไทยเป็นโครงการที่ไม่ควรสนับสนุนเพราะได้ไม่คุ้มเสีย

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์การคลังและการพัฒนามาตั้งแต่เมื่อปี 2520 ศจ.เมธี ระบุว่ายังหาเหตุผลไม่ได้เลยถึงประโยชน์สุทธิ (net gains) ที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศในการดำเนินนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มิได้ต้องการการกระตุ้นเหมือนสมัยเกิดโควิด-19 เมื่อ 3 ปีก่อน

ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ก่อหนี้สาธารณะมาจนชนเพดานร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี ซี่งจะเป็นภาระให้แก่คนรุ่นหลังอีกเป็นเวลานาน เพราะต้นทุน (costs) ของหนี้สาธารณะที่สูงมากๆ และอาจไม่คุ้มกับผลประโยชน์ (benefits) ที่เกิดขึ้นไม่ว่าในระยะสั้นหรือระยะยาว และยังมีความเสี่ยงในทางการคลัง การเงิน และในทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ อีกมาก จนไม่อาจจะเข้าใจได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะทำเรื่องนี้ไปทำไม?

ศจ.เมธี เสนอแนะอีกว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช.เองก็มีสำนักเฝ้าติดตามการกระทำของรัฐที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือการทุจริตอยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์พอที่จะศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้เหมือนกับในอดีตหรือไม่ เพราะฉะนั้น หากมีผู้ร้องเรียนจากภายนอกเข้ามา และ ปปช. สามารถขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วยในการไต่สวนได้ การทำงานในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นไปได้มากขึ้น

ในตอนท้าย อดีตกรรมการ ปปช.ท่านนี้ กล่าวว่า ถึงแม้ตัวนายกฯ และพรรคเพื่อไทยจะแถลงอย่างแข็งขันว่าโครงการเกิดแน่ภายในวันที่ 1 ก.พ. ปีหน้า แต่สภาพเหตุการณ์และความเป็นไปได้ข้างต้นอาจจะทำให้โครงการนี้เป็นหมันหรือแท้งเสียก่อนก็ได้ หรือถ้ารัฐบาลจะยอม “ลุยไฟ” ทำโครงการนี้ต่อไป พวกเราชาวบ้านก็คงจะทำอะไรไม่ได้นอกจากคอยเฝ้าดูว่าการต่อสู้กันในครั้งนี้จะลงเอยอย่างไรในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ค้าน 1 หมื่นดิจิทัล ลาม นายกฯ ยืนยันหนักแน่น ‘ไม่ยกเลิก’

2 อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ร่วมค้านเเจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น

นโยบายเศรษฐกิจผิด สะเทือนชีวิตคนทั้งประเทศ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์