อย่าลืม วันนี้ ! จ่ายขั้นต่ำบัตร 8%

1 ม.ค. 2567 - 00:00

  • 1 ม.ค. 67 ชำระหนี้บัตรขั้นต่ำ 8 %

  • ธนาคารประสานเสียง เชื่อลูกหนี้ ตั้งรับได้

  • ข้อเสียของการจ่ายขั้นต่ำ โดนดอกเบี้ย 2 เด้ง

Economy-Do-not-forget-today-increase-your-card -payment-to-8-percent-SPACEBAR-Hero.jpg

อย่าลืม ! วันนี้ (1ม.ค.67)  ขยับจ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8% 

 1 มกราคม 2567 เป็นวันแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์​และสถาบันการเงิน ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8 % จากที่ก่อนหน้านี้ มีการกำหนดเกณฑ์ในช่วงสถาการณ์การระบาดของโควิด-19 ไว้ที่ 5 % เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของลูกหนี้ และในปี 2668 จะมีการปรับการชำระขั้นต่ำเป็น 10 % หรือกลับมาเท่าเดิม ก่อนช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19  

ด้าน ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า มีการสื่อสารกับลูกค้าล่วงหน้ามาถึง 3 เดือน ประกอบกับหากดูพอร์ตของลูกหนี้จะมีสัดส่วนการชำระขั้นต่ำที่ 50% และอีก 50% ชำระเต็มวงเงิน  และมีลูกค้าจำนวนไม่เยอะที่ผ่อนเพียงขั้นต่ำ 10% จึงประเมินว่า ขยับจ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8% อาจจะไม่กระทบกับพอร์ตของลูกค้ามากนัก 

เช่นเดียวกับ ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาติ หรือ ทีทีบี เชื่อว่าขยับจ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8% ลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากในจำนวนพอร์ตลูกค้า 800,000 ใบ มี 35 %ชำระเต็มจำนวน ส่วนอีก 65 % ชำระไม่เต็มจำนวน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการปรับเงื่อนไข หากลูกหนี้สามารถปรับตัวได้ก็ไม่มีปัญหา  

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งในส่วนของ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารทหารไทยธนชาติ จะมีการติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิดในช่วงแรก หากพบว่าปัญหาก็คงจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เข้าไปช่วยเหลือ 

ข้อเสียของการจ่ายขั้นต่ำ โดนดอกเบี้ย 2 เด้ง  

 บทความ ทำไมถึงไม่ควร “จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ” บนเว็บไซต์ Finnnomina อธิบายไว้ถึง ข้อเสียของการจ่ายขั้นต่ำ คือ จะทำให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 2 ก้อนในเวลาเดียวกัน 

ยกตัวอย่างว่า สมมติเราใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าไป ราคา 10,000 บาท เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระ เราเลือกจ่ายแค่ขั้นต่ำ 5% คือ 500 บาท จะเกิดดอกดอกเบี้ยก้อนแรก คือก้อนที่คำนวณจากเงินราคาสินค้า 10,000 บาททั้งจำนวน ที่เราเคยให้ธนาคารออกเงินให้ร้านค้าก่อน เมื่อไม่จ่ายคืนให้ครบจำนวนในวันนี้ ธนาคารก็ขอคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันย้อนไปถึงวันที่ได้ใช้บัตรแบบเต็มจำนวน 

ก้อนที่สอง คำนวณจากเงินต้นคงเหลือหลังจ่ายขั้นต่ำ เช่น ตามตัวอย่างเมื่อได้จ่ายขั้นต่ำไป 500 บาทจากราคาสินค้า 10,000  เหลือเงินต้นคงเหลือ 9,500 บาท ธนาคารก็จะคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นก้อนนี้เป็นรายวันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดจ่ายบัตรเครดิตรอบถัดไป เพราะวันที่เราได้จ่ายขั้นต่ำ ถือว่าเป็นการทำรายการในรอบการใช้บัตรครั้งถัดไป 

 สมมติว่าเราใช้วิธีจ่ายขั้นต่ำ 5% ไปเรื่อย ๆ มันก็ถูกวนเป็นรายการใหม่ในรอบการใช้บัตรเครดิตครั้งต่อไปไปเรื่อย ๆ เอาเฉพาะแค่รายการนี้รายการเดียว ก็หาทางลงยากแล้วว่าจะวนจ่ายจนเคลียร์บัตรจนครบได้เมื่อไหร่ 

ส่วนมากเวลาใช้บัตรเครดิต ใคร ๆ ก็ใช้รูดซื้อกันมากกว่ารายการเดียวอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้หาทางออกจากวงจรบัตรเครดิตได้ยากขึ้น นอกจากนี้เมื่อได้จ่ายขั้นต่ำไปครั้งนึง ธนาคารเค้าก็จะไม่มี “ระยะเวลาปลอดหนี้” ให้อีกต่อไป หมายความว่าทุกยอดใช้จ่ายหลังจากนั้น จะถูกคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันวนไปเรื่อย ๆ อีกเช่นกัน และที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงมาก โดยทั่วไปจะอยู่อัตรา 16% ต่อปี และยังถูกคำนวณเป็นรายวันอีกด้วย 

ดังนั้น หากผู้ใช้บัตรเครดิตสามารถบริหารจัดการการเงิน ด้วยการจ่ายเต็มจำนวนได้ ก็จะทำให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินแม้แต่บาทเดียว

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์