เรียกได้ว่า น่าเป็นห่วง สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ไทย ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่ในวันนี้มีสัญญาณไม่ค่อยดีนัก เพราะใน การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 ก็ชี้ชัด อุปสงค์ประเทศยังเปราะบาง ทำให้ทั้ง ‘ยานยนต์ และ อสังหาฯ’ ยังไม่มีตัวเลขกระเตื้อง
ชี้ ยานยนต์ ขายได้น้อย หดตัว 2.4%
สำหรับ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์’ ยอดจำหน่าย 5 เดือนแรก หดตัว 2.4% (ยอดจำหน่ายรถยนต์สะสมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ลดลง 24% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว หรือหายไป 81,000 คัน ส่วนใหญ่มาจากยอดขายในกลุ่ม Commercial Car ที่ลดลงถึง 39% คิดเป็นจำนวน 67,000 คัน) เหตุผลของการหดตัวก็เป็นเพราะ เศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ยังไม่พร้อมเต็มที่ อีกทั้งสถาบันการเงินก็ยังจะต้องเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อต่ออีก โดยเฉพาะกับผู้มีอาชีพอิสระ และยังเป็นผลต่อเนื่องมาจาก ‘ยอดหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง’ ด้วย
ด้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังกำลังปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยปี 2567 จากเดิม 1.9 ล้านคัน โดยมีแนวโน้มปรับเป้าหมายผลิตเพื่อขายในประเทศลงเหลือ 0.7 ล้านคัน จากเดิม 0.75 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน ส่วนยอดผลิตเพื่อส่งออกมีแนวโน้มคงเดิมที่ 1.15 ล้านคัน โดยจะสรุปในเดือน กรกฎาคม 2567
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานประธาน กกร. ยังชี้ หากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น และกำลังซื้อในไตในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังไม่ฟื้น อาจจะกระทบทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% จากประมาณการณ์ที่ กกร.ประเมินไว้ 2.2-2.7%
‘อสังหา’ ชะลอต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากพิจารณาการชะลอตัวลงของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดูได้จาก ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ลดลง โดยบ้านจัดสรรลดลง 11.8% และอาคารชุดลดลง 7.4% โดยการหดตัวของมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีปัจจัยกดดันหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ตามการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นจากการใช้มาตรการ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อควบคุมภาวะหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ปี 2567 คาดว่ามูลค่าโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่คิดเป็น 60-70% ของทั้งประเทศ จะมีมูลค่าเท่า 575,000 ล้านบาท หดตัว 9.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 365,000 ล้านบาท หดตัว 8.7% และอาคารชุด 211,000 ล้านบาท หดตัว 10.3%
สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่อง การชี้ถึงตัวเลขที่ชะลอลง จึงอาจทำให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ลดลงได้อีก และยากที่จะกระเตื้อง เพราะคนสำคัญในระบบนี้ ซึ่งคือ ประชาชน ขาดกำลังซื้อ ส่วนคนที่พอมีกำลังซื้อ แบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ที่ถือเป็นอาชีพที่ไม่มีหลักประกันที่มั่นคง รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่พัวพันไปถึงการเบิกจ่ายงบรัฐที่ล่าช้าทำให้ความต้องการใช้รถกระบะและรถบรรทุก หดตัวลงตามทิศทางภาคก่อสร้าง
ธนาคารโลก ชี้ ไทยฟื้นตัวตามหลังอาเซียน ลดโตเหลือ 2.4%
ไม่นานนัก เราก็ได้ยินอีกว่า ธนาคารโลก ลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2567 เหลือขยายตัว 2.4% จากประมาณการเดิม 2.8% ส่วนปี 2568 ขยายตัว 2.8% จากประมาณการเดิม 3.0% โดยมองมาที่ภาครัฐบาลไทย ว่ากำลังต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม และการลงทุนภาครัฐบาลรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ส่วนหนี้สาธารณะถือว่าอยู่ระดับเสถียรภาพ
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เผยข้อมูล เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยมองความท้าทายใน 3 เรื่องหลัก คือ
1. เศรษฐกิจโลก ‘ชะลอ’ ส่งผลต่อการค้าและภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
2. ภาคการคลัง จัดสรรงบประมาณปี 2567 ล่าช้า กระทบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
3. การเติบโตระยะปานกลาง ซึ่งธนาคารโลก ได้ปรับให้ ‘ชะลอลง’
1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวของไทย
โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และปี 2568 รวมถึงปีต่อไป ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ปัจจัยจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลถึงการค้าและการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก แต่ภาพรวมเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากตัวเลขคำสั่งซื้อในไตรมาส 1/2567 ที่ปรับตัวสูงขึ้น (เร่งสั่งสินค้า แต่เป็นภาวะชั่วคราว) ซึ่งส่งผลถึงภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นตัว และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
“ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 7 ไตรมาสที่ผ่านมา GDP เติบโตได้ค่อนข้างต่ำ คือน้อยกว่า 2% เป็นภาวะ Down Cycle ที่หลักๆ มาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่ไปสู่ระดับเดิม รวมถึงการลงทุนที่ไม่ได้โตมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐที่เข้ามาช้า เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 ดังนั้น จึงเห็นว่าตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้ช้าสุด แม้ว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกเหมือนกัน แต่เพราะไทยเป็นประเทศเปิดที่พึ่งพาการส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยว ก็มีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพี ทำให้ตรงนี้เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในเชิงโครงสร้าง”
เกียรติพงศ์ กล่าว
ด้าน ‘อัตราเงินเฟ้อ’ แม้ปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังมีความเปราะบาง เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ในช่วงต้นปี 2568 จึงเป็นเรื่องท้าทาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีปัจจัยกดดันจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังไม่มีความแน่นอน
“เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น อยากให้ดูเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ได้ และเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังมีความเปราะบางจากราคาพลังงาน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานด้านอื่นๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นลบได้”
เกียรติพงศ์ กล่าว
2. ภาคการคลัง กับการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567
การลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 การลงทุนของไทยติดลบมาก เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งการที่การใช้งบฯ ปี 2567 ล่าช้าถึง 7 เดือน หนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 คงตัวอยู่ที่ระดับ 64% ของจีดีพี หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อดูแลสังคม แต่ภาพรวมก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ของจีดีพี แต่ยอมรับว่าทิศทางของหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเด็นที่น่าห่วง และต้องจับตา
3. ความท้าทายเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
ธนาคารโลกมองว่า หากประเทศไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผ่านการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา สาธารณสุข และเพิ่มศักยภาพแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานย้ายเข้าไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้ดีขึ้นนั้น จะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยยกระดับการเติบโตระยะปานกลางให้เพิ่มขึ้นอีก 1% จากระดับคาดการณ์ในปัจจุบันที่ 2.7%
นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า นโยบายการคลังจะต้องตอบโจทย์สังคมสูงอายุให้มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอจะรักษาเสถียรภาพไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การมุ่งเน้นการทำนโยบายการคลังแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมองว่าหากทำนโยบายที่กว้าง จะส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะของประเทศระยะสั้น แม้ไทยจำเป็นจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมาตรการที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย ต้องดูถึงผลดี-ผลเสียอย่างไร เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต การตรึงราคาพลังงาน การใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุ และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเราอยากเห็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า ส่งเสริมการเติบโตในระยะสั้นและระยะยาว
อย่างไรก็ตาม จากหน่วยต่างๆ ที่ออกมาสะท้อนถึงการ ‘ชะลอ’ ของภาวะเศรษฐกิจไทยนี่เอง ที่บอกได้ว่า มันถึงช่วง “ข้าวยากหมากแพง ฝืดเคืองเสียเหลือเกิน” อันมาจาก ‘ความเปราะบาง’ ของหลายสิ่งอย่างที่ประกอบเข้าด้วยกัน ดังนั้น ภาครัฐ ก็ทำหน้าที่ขับเคลื่อนต่อไป แต่ภาคประชาชนก็ต้องระมัดระวัง และ “เป็นที่พึ่งของตนเอง ให้ได้มากที่สุด”