หนี้นอกระบบ 5 ล้านล้าน ฉุดศก.ไทย

27 พ.ย. 2566 - 09:26

  • หนี้นอกระบบ 5 ล้านล้าน คิดเป็น 30 % ของจีดีพี

  • แนะรัฐบาล ดึง เจ้าหนี้นอกระบบขึ้นทะเบียน คุมดอกเบี้ย

  • รัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินสะพัด เศรษฐกิจดีขึ้น

Economy-Informal-debt-5trillion-holding-back- economic-growth-SPACEBAR-Hero.jpg

หนี้นอกระบบพุ่ง 5 ล้านล้าน คิดเป็น 30 % ของจีดีพี ดันหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบแตะ 21 ล้านล้าน นักวิชาการอิสระ แนะ รัฐบาล ดึงเจ้าหนี้นอกระบบขึ้นทะเบียน คุมดอกเบี้ย

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทย มี 2 ส่วน คือ หนี้ในระบบอยู่ที่ราว 16 ล้านล้านบาท หนี้นอกระบบอยู่ที่ราว 5 ล้านล้านบาท ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนรวมอยู่ที่ 21 ล้านล้านบาท 

สำหรับตัวเลข หนี้นอกระบบ โดยเป็นการคำนวณตัวเลขจาก เศรษฐกิจนอกระบบ จากงานวิจัยของ World Bank พบว่าทั่วโลก เงินที่เกิดจากเศรษฐกิจนอกระบบ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า คนทำธุรกิจ งานที่ปรึกษา รับจ้างอิสระและอื่นๆมีสัดส่วนถึง 60 % ของจีดีพี  ดังนั้นจึงประเมินว่าคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งพาหนี้ระบบอยู่ที่ราว 30 % ของจีดีพี หรือ 5 ล้านล้านบาท ( อ้างอิงจากจีดีพีไทยในปี 2565 ที่อยู่ราว 16 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ยังพบว่า หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี จะยิ่งทำให้มีการก่อหนี้ในระบบสูงมากขึ้นอีกด้วย 

สำหรับตัวเลขหนี้ครัวเรือน 21 ล้านล้านบาท เมื่อนำมาหารกับประชากรไทย 70 ล้านคน พบว่าคนไทยจะมีหนี้เฉลี่ยที่ 400,000 บาทต่อคน ขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 260,000 บาท หรือ ภาวะรายได้ไม่พอรายจ่าย โดยวัตถุประสงค์ของการเป็นหนี้ในระบบ คือ ชำระสินเชื่อบ้าน ชำระสินเชื่อรถ และ ค่าครองชีพ ขณะที่วัตถุประสงค์ของการเป็นนอกในระบบ คือ กู้เงินไปทำธุรรกิจ และ ค่าครองชีพ

ส่วนภาพรวมของการเป็นหนี้ 5 ประเภท ได้แก่ หนี้เกษตรกร หนี้ครัวเรือนในระบบ หนี้ครัวเรือนนอกระบบ หนี้สาธารณะ และหนี้ภาคเอกชน รวมอยู่ที่ 60 ล้านล้านบาท หรือ เกือบ 4 เท่าของจีดีพี ดังนั้น รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช จึงประเมินว่า ปัญหาหนี้จะเป็นตัวฉุดวิกฤตด้านการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้โตไม่ถึง 4-5 % ตามที่รัฐบาลคาดหวัง

ai-Info-Money G.jpg

นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  จึงเสนอ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการแก้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.66) ใน 4 ข้อเสนอ ได้แก่ 

1. ขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบภายใน 1 ปี กับหน่วยงานมหาดไทยของรัฐ เช่น อำเภอ จังหวัด โดยใช้ฐานข้อมูลจากลูกหนี้ในพื้นที่ 

2.คุมดอกเบี้ยเงินกู้ให้เป็นธรรม เช่น ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเพดานอยู่ที่ 25 % ต่อปี ส่วนหนี้นอกระบบอาจจะให้ได้ไม่เกิน 28 % ต่อปี  หรือมากกว่า 3 % เพราะเจ้าหนี้นอกระบบ ถือเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ต้นทุนแพงกว่าสถานบันการเงินใหญ่

3.ออกนโยบายเคลียร์หนี้แบบ Hair Cut ให้ลูกหนี้ หรือปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อตัดวงจรการเป็นหนี้เรื้อรัง 

4.บริหารประเทศให้เศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินสะพัดในระบบ เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคัก ประชาชนทำมาหากินได้ง่าย ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยได้

รัฐบาลต้องประกาศเลยภายใน 1 ปี ต้องขึ้นทะเบียน เอา เจ้าหนี้นอกระบบ มาขึ้นทะเบียน ที่เขตอำเภอ จว. นั้นๆ โดยใช้ฐานข้อมูลของลูกหนี้ ให้ลูกหนี้มาแจ้งได้ด้วย และออกกฎหมายคุม ดอกเบี้ยแพงกว่าสถาบันการเงินได้ไม่เกิน 3 %

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์