หนี้ท่วมหัว จ่ายไม่ไหว ทำยังไง?

24 พ.ย. 2566 - 15:52

  • หนี้ท่วมหัว เพราะ ขาดวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย

  • แนะ 5 เทคนิค แก้ปัญหา หนี้ท่วมหัว

  • หากเป็นหนี้นอกระบบ เริ่มแก้ยังไงดี ?

Economy-If-you-have-alotof-debt-Can-not-pay- what-should-I-do-SPACEBAR-Hero.jpg

สังเกต 4  อาการคนมีหนี้ท่วมหัว พบต้นเหตุ ขาดวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย

จากบทความ สำรวจอาการคนหนี้ท่วมหัว ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.scb.co.th  อธิบายถึง อาการของคนที่เป็นหนี้ท่วมหัว มีปัญหาในการชำระหนี้ ว่าเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว ไม่รู้จักเก็บออม ไม่มีวินัยทางการเงินที่เพียงพอ 

โดยหลักการในการเป็นหนี้ที่สามารถบริหารจัดการได้ คือ ควรมีภาระหนี้ต่อเดือนรวมแล้ว ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ เช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท ภาระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 6,666 บาท เพราะหากแบ่งเงินไปใช้หนี้แล้ว ก็จะทำให้ยังไม่เงินออม และเงินสำหรับใช้จ่าย แต่หากภาระหนี้เกินกว่า 6,666 บาท เริ่มเป็นสัญญาเตือนว่า ภาระหนี้ต่อเดือนเริ่มสูงเกินไป โดย 4 อาการสำหรับ ผู้ที่มีหนี้สินท่วมหัว ได้แก่ 

1.กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ คิดมาก เพราะต้องหาเงินมาชำระหนี้  

2.ไม่อยากคุยเรื่องเงิน สังเกตจากเวลาเพื่อนๆ คุยเรื่องเงินๆทองๆ จะไม่อยากมีส่วนร่วมกับบทสนทนา สังเกตว่า ผู้ที่มีภาระหนี้สินท่วมตัว จะชอบอยู่คนเดียว 

3.เริ่มจ่ายหนี้ช้า ไม่ครบจำนวน หรือ ถอนเงินก็บมาจ่ายหนี้ 

4.ยอดหนี้ไม่ลดลง โดยปกติ หากจ่ายหนี้ยอดหนี้จะค่อยๆลดลง แต่เมื่อสำรวจ พบว่า ยอดหนี้สูงขึ้น แสดงว่ามีการก่อภาระหนี้ก้อนใหม่เข้าไป ทำให้เงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

แนะ 5 เทคนิค แก้ปัญหา หนี้ท่วมหัว

1.สำรวจรายจ่าย และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าดูหนัง ค่าทานข้าวนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อยต่างๆ ประหยัด 

2.ลำดับการจ่ายหนี้ จดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงอยู่เป็นอันดับแรก และไล่ลงมาเรื่อยๆ ชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน เช่น หนี้นอกระบบ ตามมาด้วย บัตรกดเงินสด และบัตรเครดิต

3.หยุดก่อหนี้ใหม่ เป็นการหักดิบไม่ให้ภาระหนี้สูงไปกว่านี้ 

4.ขายทรัพย์สินบางอย่าง เพื่อจ่ายหนี้ เป็นการตัดใจขาย เพื่อแลกกับความสุขในระยะยาว 

5.การรวมหนี้ เช่น หากเป็นหนี้บัตรเครดิต 5 ใบ ซึ่งถือเป็นสินเชื่อประเภทเดียวกัน ใช้วิธีเจรจากับเจ้าหน้าทุกราย เพื่อมาขอรวมไว้ในที่เดียวกัน รวมถึง การรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เช่น การขอสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อนำเงินสดไปโปะ สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยแพงกว่า

info_Economy-If-you-have-alotof-debt-Can-not-pay- what-should-I-do.jpg

วิธีการจัดการกับ 'หนี้นอกระบบ'

ด้าน อุดม พลสมบัตินันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM แนะนำ คนที่เป็นหนี้ หากใครที่เป็นหนี้นอกระบบ ขั้นตอนแรก ต้องหาสินเชื่อในระบบ เพื่อนำไปโปะหนี้นอกระบบ เพราะจะได้ดอกเบี้ยถูกกว่า และสัญญาเป็นธรรมมากกว่า 

แต่สำหรับลูกหนี้ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล เริ่มมีปัญหาชำระไม่ไหว แนะนำ ให้เข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ หรือกรณีมีหลักประกันเป็นทรัพย์สิน เช่น บ้าน ก็สามารถปรึกษาธนาคารที่ทำสัญญาผ่อนบ้าน เพื่อขอเพิ่มวงเงิน หรือ ขอสินเชื่อเอนกประสงค์ เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปปิดหนี้บัตรเครดิต เพราะอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตประมาณ 16-25 % ขณะที่บ้านดอกเบี้ย 7-8% ต่อปีเท่านั้น แต่กรณีขอวงเงินเพิ่ม ลูกหนี้ต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี พร้อมเน้นย้ำว่า ถ้าลูกหนี้รายใด มีประวัติการชำระที่ดี ให้รักษาเครดิตไว้ดีที่สุด 

สำหรับปัญหาการก่อหนี้ส่วนบุคคลของสมาชิกในครอบครัวส่งผลโดยตรงต่อสถานการณ์การเงินในครอบครัว โดยข้อมูลจาก ผลสำรวจ "สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2566" ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าปี 66 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,408 บาทต่อครัวเรือน ขยายตัว 11.5 %  โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 80.2 % เป็นหนี้นอกระบบ 19.8% สาเหตุเพราะ เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่แน่นอน ทำให้หลายคนอาจจะต้องก่อหนี้เพื่อประคองตัว

ข่าวที่น่าสนใจ

ศูนย์แก้หนี้นอกระบบ ลงทะเบียน 1 ธ.ค. พร้อมช่วยคนไทย

ยังสับสน ‘ภาษีหุ้นนอก’ แบงก์ จี้ ขอความชัดเจนเร็วที่สุด

คนไทย เป็นหนี้นอกระบบ 5.4 หมื่นบาท

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์