มัดรวมเรื่องต้องเจอ รับปีมังกร ได้อะไรบ้าง จ่ายอะไรเพิ่ม

2 มกราคม 2567 - 06:12

economy-minimum-wage-bts-credit-card-tax-deduction-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย

  • จ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 8% - ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศ

  • ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ถึง 15ก.พ.67

เริ่มต้นปีใหม่ 2567 มาตรการต่าง ๆ เริ่มทยอยออกมาหลายเรื่อง ซึ่งมีผลประกาศใช้ตั้งแต่เดือน มกราคมนี้เป็นต้นไป โดยในแต่ละเรื่องก็มีทั้งมีผลในระยะยาว และระยะสั้น ตามวาระกันไป ซึ่งทีมข่าวขอรวบรวมภาพรวมมาตรการที่มีผลบังคับใช้แล้วมาให้ได้รับทราบกันอีกครั้ง

เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยาย

หลังจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บโดยกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และเส้นทางช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในอัตราสูงสุด 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

1.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท

ตั้งแต่สถานีบางจาก-สถานีแบริ่ง รวมเส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตั้งแต่สถานีสำโรง-สถานีเคหะฯ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีคูคต

2.เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม

ตั้งแต่สถานีโพธิ์นิมิตร-สถานีบางหว้า

อัตราค่าโดยสาร ตามประเภทของบัตรโดยสาร

  • บัตรโดยสารเที่ยวเดียว 15 บาท
  • บัตรแรบบิทสำหรับบุคคลทั่วไป 15 บาท
  • บัตรแรบบิทสำหรับนักเรียนและนักศึกษา 10 บาท
  • บัตรแรบบิทสำหรับเด็ก 10 บาท
  • บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ 7 บาท

จ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 8%

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์​และสถาบันการเงิน ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8% โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ก่อนกลับเข้าสู่อัตราปกติ ร้อยละ 10 ในปีถัดไป

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ​ 2-16 บาท ทั่วประเทศ

หลังจาก ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 2–16 บาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป และจากนั้นก็มี ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 12) 28 ธันวาคม 2566 ความว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกําหนด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีมติเห็นชอบให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 79 (3) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้าง จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ กันยายน พ.ศ. 2565

ข้อ 2 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นเป็นเงินวันละสามร้อยเจ็ดสิบบาท ในท้องที่จังหวัดภูเก็ต

ข้อ 3 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยหกสิบสามบาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

ข้อ 4 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยหกสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัด ชลบุรี และระยอง

ขอ 5 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยห้าสิบสองบาท ในท้องที่จังหวัด นครราชสีมา

ข้อ 6 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยห้าสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัด สมุทรสงคราม

ข้อ 7 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยห้าสิบบาท ในท้องที่จังหวัด ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ลพบุรี

ข้อ 8 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบเก้าบาท ในท้องที่จังหวัดลพบุรี

ขอ 9 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัด นครนายก สุพรรณบุรี และหนองคาย

ข้อ 10 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาท ในท้องที่จังหวัด กระบี่ และตราด

ข้อ 11 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัด กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา สระแก้ว สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี

ข้อ 12 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบสี่บาท ในท้องที่จังหวัดชุมพร เพชรบุรี และสุรินทร์

ข้อ 13 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบสามบาท ในท้องที่จังหวัด นครสวรรค์ ยโสธร และลําพูน

ข้อ 14 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบสองบาท ในท้องที่จังหวัด กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด

ข้อ 15 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัด ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี และอ่างทอง

ข้อ 16 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบบาท ในท้องที่จังหวัดกําแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลําปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลําภู อํานาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

ข้อ 17 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัด ตรัง น่าน พะเยา และแพร่

ข้อ 18 ให้กําหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบบาท ในท้องที่จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ข้อ 19 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 ถึงข้อ 18 คําว่า “วัน” หมายถึง เวลาทํางานปกติ ของลูกจ้างซึ่งไม่เกินชั่วโมงทํางานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทํางานน้อยกว่าเวลาทํางานปกติเพียงใดก็ตาม

(1) เจ็ดชั่วโมง สําหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

(2) แปดชั่วโมง สําหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)

ข้อ 20 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ข้อ 21 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

ลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 หมื่นบาท Easy E-Receipt

โดยผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น 

สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ ‘Easy E-Receipt’ ให้ผู้ซื้อสินค้าสังเกตร้านค้าทีมีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้ 

กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย โดยค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จะได้รับสิทธิฯ ไม่รวมถึง 

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ 
  • ค่าซื้อยาสูบ 
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต        
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย 

กรณีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย เฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้  

  • ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร  
  • ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับ กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว    

ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการตามข้อ 1 และ 2 เมื่อรวมกันแล้วสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์