เอกชน เสนอรัฐ ชู Re-Design ฟื้นเที่ยวไทยให้ต่างชาติกลับมา 40 ล้านคน แนะอุดหนุนเงินให้บริษัทนำเที่ยว กระตุ้นศก.ชุมชน
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ 20% ของ GDP สร้างงานให้คน 7.5 ล้านคน ดังนั้น ตนในฐานะภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว จึงอยากนำเสนอ ‘โมเดล Re-Design พัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ’ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการภาคการท่องเที่ยว
สำหรับ ‘โมเดล Re-Design’ หมายถึง การออกแบบแนวทางในการสร้างจุดขายใหม่ ให้กับการท่องเที่ยวไทย ด้วยการนำ Mega Trend มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างสินค้า(Product)ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ตั้งเป้าหมายให้คนทำงานทั้ง 7.5 ล้านคน ไม่ตกงาน ผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานไว้ พร้อมทั้งเป็นการฟื้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาที่ 40 ล้านคนเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ด้วยการเสนอรัฐบาลแบ่งกลุ่มเป้าหมายลูกค้าต่างชาติ เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ล้านคน ได้แก่
1.กลุ่มนักท่องเที่ยวทะเล ชายหาด ชูสินค้าด้านการท่องเที่ยวเป็นแพ็คเกจเที่ยวข้ามจังหวัด เชื่อมโยงเป็นกลุ่มจังหวัด เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน
2.กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา ชูกิจกรรมแข่งขันด้านการวิ่ง หรือ การแข่งขันต่างๆ ทั่วทุกภาคของไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน
3.กลุ่ม Wellness Tourism หรือ การท่องเที่ยวที่เป็นกิจกรรมส่งเสริมหรือฟื้นฟูความสมบูรณ์แข็งแรงของสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงมาก
4.กลุ่ม MICE Business Travel หรือ การท่องเที่ยวผ่านการประชุม สัมมนา ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จำนวนมาก คือ นักธุรกิจ ที่มีผู้ติดตามมาด้วย
รวมถึงเสนอรัฐบาลประกาศ ‘ไทยพร้อมเป็นเมืองเกษียณโลก’ ออกแบบสินค้าด้านการพักผ่อน อยู่อาศัยให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุถือเป็น Mega Trend ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบทของเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถคิดตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้และเร่งผลักดันได้โดยเร็ว ประเทศไทยก็จะได้เปรียบ
ส่วนในด้านของการรักษาสิ่งแวดล้อม ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยว ในรูปแบบ Man-made (แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น) ลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ศิลปินชื่อดังระดับโลก เป็นผู้สร้างสรรค์ เพื่อหวังเป็น Landmark ใหม่ๆ ของประเทศไทย ที่คนทั่วโลกต้องการมาเยือน
แนะ เชิงนโยบาย อุดหนุนเงินให้บริษัทนำเที่ยว
นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายว่า หากจะทำให้ Landmark ใหม่ๆ เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ ด้วยสนับสนุนในเชิงนโยบาย ผ่านอุดหนุนเงิน(subsidized) ไปยังบริษัทผู้ประกอบการนำเที่ยวรถทัวร์โดยตรง เพื่อให้บริษัทนำเที่ยว จัดรายชื่อแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เพิ่มเข้าไปในโปรแกรมทัวร์ ซึ่งเป็นวิธีที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ตั้งแต่พ่อค้า แม่ค้า รายเล็กๆในแหล่งท่องเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงรัฐบาล ก็สามารถได้จัดเก็บภาษีเงินที่หมุนในระบบเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

ในการเปิดประเทศใหม่ๆ ผมจะใช้บริษัทนำเที่ยวเป็นเครื่องมือ ชี้นำง่าย ถ้าอยากให้บริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวลงชุมชน รัฐบาลก็อุดหนุนเงิน (subsidize) ให้บริษัทนำเที่ยว รัฐบาลต้องดูว่า Pain Point ของบริษัททัวร์ มีปัญหาตรงไหน รัฐบาลก็ไปอุดหนุนตรงนั้น
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปิดท้ายว่า ส่วนในระยะสั้น มี 2 ประเด็น ที่รัฐบาลต้องเร่งปัญหา คือ การเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และการเพิ่มสล็อตการบิน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสารในช่วงไฮซีซั่น
ข้อมูล จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 31 ตุลาคม 2566 มีจำนวนสะสม 22,200,989 คน เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 7,102,562 คน โดยนักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก คือ มาเลเซีย 3.6 ล้านคน รองลงมาคือ จีน 2.7 ล้านคน และ เกาหลีใต้ 1.3 ล้านคน
โดยตลอดปี 2566 รัฐบาลตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ 28 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งหากรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ 1 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าปี 66 มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 2.4 ล้านล้านบาท
ข่าวที่น่าสนใจ
ผลสำรวจพบนักท่องเที่ยวจีน เริ่มเมินไทย