"เดอะ คอฟฟี่ คลับ" รุกตลาด พนง.ออฟฟิศ

28 มีนาคม 2567 - 08:49

Economy-The-Coffee-Club-Set-an-investment- budget-of-30-million-in-202-SPACEBAR-Hero.jpg

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องธุรกิจร้านอาหารอย่างหนัก หนึ่งในนั้น คือ ร้านเดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การบริหารงานของเครือไมเนอร์ แม้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ  ททท. จะประเมินว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมา 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.09 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด แต่ในฝั่งของภาคธุรกิจเอกชน มีการปรับกลยุทธ์ลดการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  กลยุทธ์ในปีที่ผ่านมาเริ่มปรับคอนเซ็ปต์เป็น Neighborhood Café เพื่อเข้าถึงลูกค้าคนไทยกลุ่มพนักงานออฟฟิศมากขึ้น ทำให้สัดส่วนลูกค้าของ เดอะ คอฟฟี่ คลับ เดิมที่มี ลูกค้าต่างชาติ 70 % คนไทย 30% เปลี่ยนสัดส่วนเป็น ลูกค้าต่างชาติ 60% คนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 35-40 % โดยตั้งเป้าปรับสัดส่วนลูกค้าคนไทยเป็น 50 % ภายใน 5 ปีจากนี้ เพราะต้องการบริหารความเสี่ยงลูกค้าต่างชาติจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เนื่องจากช่วงโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการไปหลายจุด

20240328_040053241_iOS.jpg

เราต้องการจะทำให้ธุรกิจเราเติบโต โดย Risk น้อยที่สุด แล้วก็ต้องการเข้าถึงคนไทยมากขึ้นด้วย เพราะคนไทยสามารถทานเราได้ทั้งปี ถ้าเป็นต่างชาติก็จะได้แค่ไตรมาส 1 และ 4

นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ซึ่งผลการดำเนินงานของธุรกิจร้าน เดอะ คอฟฟี่ คลับใน ปี 2566 ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 32% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยรายได้ในปี 2566 อยู่ที่ 700 กว่าล้านบาท กำไรราว 1 ล้านบาท เป็นการกลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 6 ปี ส่วนในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้เกิน 800 ล้านบาท ตั้งเป้ากำไรโต 2 ดิจิต

ในปี 2566 จนปัจจุบันขยายสาขาเพิ่ม 5 แห่ง ประกอบด้วย สาขาโบ๊ท ลากูน จ.ภูเก็ต , สาขาโอลด์ทาวน์ จ.ภูเก็ต , สาขาพาร์ค สีลม กทม.  , สาขาสเตย์บริดจ์ ทองหล่อ กทม. และ เดอะปาร์ค สาขาใหม่ กทม. (สาขาแรกที่เปิดปี 67) 

ส่วนในปี 2567 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 

1.ร้านขนาดเล็กรูปแบบ Grab&Go รวม 4 สาขา ขนาดพื้นที่ 70-100 ตร.ม.  ที่นั่งราว 30 ที่นั่ง ใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อสาขา เน้นพื้นที่ในกทม. ย่านพนักงานออฟฟิศ 

2.ร้าน Café ขนาดใหญ่ ขนาดพื้นที่ 180-200 ตร.ม. จำนวน 1 สาขา ที่นั่งราว 80 ที่นั่ง ลงทุนราว 8-10 ล้านบาทต่อสาขา คาดว่าจะเปิดในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว โดยตั้งงบลงทุนตลอดปี 2567 ไว้ที่ 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนลงทุน จะทำให้ภายในสิ้นปี 2567 มีร้านเพิ่มเป็น 45 สาขาในไทย

20240328_033533429_iOS.jpg

สำหรับ Loyalty program เป็นหนึ่งในเครื่องมือ(CRM) ที่ทำให้ลูกค้าคนไทย หันมาเป็นลูกค้ามากขึ้น เช่น มองสิทธิประโยชน์แอปพลิเคชัน The Coffee Club , การใช้ดับเบิ้ลพ้อย และ โมเดล Subscription ที่ลูกค้าสามารถซื้อแพครายเดือน 10-15 ครั้ง จะได้กาแฟในราคา 53-59 บาทต่อแก้ว จากปกติราคาเฉลี่ยหลักร้อย  รวมถึงยังร่วมกับพันธมิตร อย่าง เครือข่ายมือถือและบัตรเครดิต เพื่อมอบความคุ้มค่าให้ลูกค้า

20240328_033005781_iOS.jpg

และล่าสุด เดอะ คอฟฟี่ คลับ ยังเปิดตัวเมนู Summer Faves ที่เป็นเน้นวัตถุดิบอาหารทะเล เช่น ฟิช แอนด์ ดับเบิ้ลชิป , สลัดอะโวคาโดกุ้ง น้ำสลัดวาซาบิ และเมนูอื่นๆ ในรสชาติที่ถูกปากคนไทย เพื่อกระตุ้นยอดขายด้วย

นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ มองว่า ตำแหน่งทางการตลาดของ เดอะ คอฟฟี่ คลับ เป็นร้านกาแฟพรีเมี่ยม ที่มีความโดดเด่นในเมนูอาหารเช้า ลูกค้ามีกำลังซื้อ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแบรนด์ รวมถึง ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง พร้อมๆกับภาพรวมของผู้เล่นร้านกาแฟรายอื่นๆในตลาด

20240328_042910839_iOS.jpg

กลยุทธ์ Loyalty program เราเริ่มจาก Upside-down ให้สิทธิประโยชน์ เริ่มจากกินฟรี ให้ลูกค้าได้ชิมก่อนเลย ถ้าโหลดแอปฯ จากนั้นเมื่อเขารู้ว่า กาแฟเราอร่อย แล้วก็จะเกิดการซื้อซ้ำ เพราะเราต้องการให้เกิดความถี่ นำไปสู่การบอกต่อลูกค้าคนอื่นๆ

นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์