ถอดโมเดลเก่าแก่-สูตรลับ ‘ข้าวหน้าปลาไหล’ ญี่ปุ่นบุกไทย

24 มกราคม 2567 - 02:34

economy-unagi-yondaime-kikukawa-food-japan-SPACEBAR-Hero.jpg
  • จะผลักดัน Soft Power ด้านอาหาร ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือทำเล่น ๆ

  • ทุนวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยมีมากมาย แต่ยังนำไปขายได้น้อย

  • ถอดโมเดลกลยุทธ์ ร้านข้าวหน้าปลาไหลญี่ปุ่นอายุ 90 ปี บุกไทย

ร้านข้าวหน้าปลาไหลอุนางิ ‘Unagi Yondaime Kikukawa’ คือเมนูอาหารญี่ปุ่นล่าสุดที่เข้ามาอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เป็นหนึ่งในเมนูร้านอาหารญี่ปุ่นเหมือนที่ผ่านมา

Yondaime Kikukama มีเรื่องราวเป็นร้านข้าวหน้าปลาไหลเก่าแก่กว่า 90 ปี มีรางวัลมิชลินไกด์ จากประเทศญี่ปุ่น จังหวัดไอจิ เมืองนาโกย่าในปี 2015  

ยูเฮ คิคุคาวะ เจ้าของผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ของบริษัท Unagi Mum Holdings  จำกัด กล่าวว่า เทรนด์อาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากปัจจุบันในไทยมีการเพิ่มขึ้นของร้านอาหารญี่ปุ่นหลากหลายประเภท เช่น Ramen, Shabu Shabu, Yakiniku และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงเข้ามาเปิดเป็นสาขาที่ 23 ของร้าน โดยมี 19 สาขาในญี่ปุ่น และ 3 สาขาที่ต่างประเทศ คือ ไต้หวัน 3 สาขา และประเทศไทยเป็นสาขาใหม่ล่าสุด

ถ้าขายเรื่องราวข้างหน้าปลาไหลแบบธรรมดา เหมือนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิด คงไม่เพียงพอในการดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ร้านนี้จึงขายเรื่องราวของขั้นตอนในการปรุงเข้าไปด้วย

จุดขายของ คือ การใช้ปลาไหลขนาดใหญ่พิเศษ หนา เนื้อฉ่ำ และมีกลิ่นหอม มีน้ำหนักประมาณ 300 กรัม ผ่านการย่างโดยเชฟชาวญี่ปุ่นให้ไม่สูญเสียไขมัน และเตรียมแบบ made to order เสิร์ฟปลาไหลทำสดในทุกจาน

เขาอธิบายว่า  ขั้นตอนการปรุงเริ่มจากบ่อพักปลาที่สูบน้ำจากบ่อลึก 200 เมตร เพื่อใช้พักปลาไหลอุนางิเอาไว้ น้ำจากบ่อจะช่วยชะล้างโคลนออกทำให้กลิ่นแรงเฉพาะตัวของปลาไหลอุนางิหายไป จากนั้นนำมาแล่ที่ร้าน ย่างด้วยถ่านไม้พิเศษ ‘บินโจซุมิ’ ในเวลาสั้น ๆ  หลังการย่าง จราดด้วย ‘ซอสสูตรลับ’ ที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งกิจการ ใส่บนภาชนะอย่างกระเบื้อง ‘ชิกะราคิ’ ทำให้ปลาไหลอุนางิที่อุ่น มีรสชาติที่อร่อยกว่าเดิมไม่เย็นชืด

economy-unagi-yondaime-kikukawa-food-japan-SPACEBAR-Photo01.jpg

การนำเสนอ และการปรุง การขาย มาตามแนวคิดญี่ปุ่นดั้งเดิม ที่อาหารญี่ปุ่นจะต้องมีเรื่องราวในการขาย อาหารญี่ปุ่นไม่ได้ขายรสชาติอย่างเดียว แต่ขายความเป็นอาหารเข้าไปด้วย 

รูปแบบ เรื่องราว ของอาหารชัดเจน ทำให้ลูกค้าจดจำ ซึ่งหากมองกลับมาที่อาหารไทย การขายเรื่องราวลักษณะนี้ก็มีการทำมาต่อเนื่องหลาย ๆ เมนูที่ได้รับความนิยม และมีอีกหลายเมนูที่สามารถนำมาปั้น ต่อยอดให้เกิดความนิยมได้

สำหรับร้าน Unagi Yondaime Kikukawa เป็นการร่วมทุนกับ บริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ของเครือสหพัฒน์ และเปิดบริการที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์

การเข้ามาของอาหารญี่ปุ่นที่เป็นเมนูเฉพาะ ล่าสุด คือ ราเม็ง ข้อสอบ มาเปิด ป็อปอัพสโตร์  ที่เซ็นทรัลเวิล์ด และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเนื่องจากไม่ใช่การปรุงราเม็งแบบสด ๆ เหมือนในร้านที่ญี่ปุ่น แต่เป็นการนำชุดสำเร็จรูปมาจำหน่าย และใช้วัตถุดิบบางส่วนของไทย แต่สุดท้ายแคมเปญนี้ก็จบลงด้วยดี ได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร สำรวจธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2566 พบว่ามีจำนวน 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือ 8% โดยปริมณฑลและจังหวัดหัวเมืองมีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนร้านในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า  ส่วนใน 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า ขณะที่กรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าเท่านั้น

economy-unagi-yondaime-kikukawa-food-japan-SPACEBAR-Photo02.jpg
ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์