วิกฤต‘ชาวนาไทย’! ปี 2568 ราคาข้าวตกต่ำ

17 พ.ค. 2568 - 00:35

  • ชาวนาไทยในปี 2568 ต้องเผชิญภาวะวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น

  • องค์กรเกษตรกรชี้รัฐบาลเดินผิดทางแก้ปัญหาข้าวล้มเหลว ถูกนายทุนเอาเปรียบ กำหนดราคาเองไม่ได้ ต้องแก้ทั้งระบบ

  • ยกญี่ปุ่นโมเดล ปลูกเป็นโซนนิ่งหมุนเวียนแต่ละพื้นที่ ระบบชลประทานเข้าถึง อนาคตปลูกข้าวอินทรีย์คือทางเลือกทางรอด ใช้เวลาแต่ยั่งยืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนในกลางเดือนพฤษภาคม 2568 เป็นการเริ่มต้นฤดูข้าวนาปี ในปีนี้น้ำฝนเอื้อจะดันผลผลิตพุ่งสูงสุด โดยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปีในปี 2568 จะพุ่งแตะ 27.2 ล้านตัน ทำสถิติพุ่งสูงสุดรอบ 12 ปี สาเหตุจากปริมาณน้ำฝนเอื้ออำนวย แต่ราคาข้าวลดลงแรง ทำให้ฉุดรายได้เกษตรกรหดตัวรอบ 4 ปี โดยกดดันราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2568 ลดลง 14.6% คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 10,700 บาทต่อตัน (หมายเหตุ เป็นราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยของจากหอมมะลิ ข้าวเหนียวและข้าวขาวที่เกษตรขายได้) 

 

สถานการณ์ในปี 2568 นี้ จะฉุดรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ให้หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี อยู่ที่ -13.8% กระทบเกษตรกร 4.61 ล้านครัวเรือน โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคอีสานที่ครองสัดส่วนผลผลิตข้าวนาปีกว่า 49% ตามด้วยภาคเหนือที่ 31% และภาคกลางที่ 19%


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo08-1.jpg


ขณะที่เกษตรกรในภาคอีสานหลายจังหวัดเริ่มไถปรับพื้นที่ เพื่อเตรียมทำนาปีที่กำลังจะมาถึง เช่นเดียวกับ อภัย ไชยสิม ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวทั่วไป หมู่ที่ 7 ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เริ่มวางแผนการผลิตข้าวนาปี โดยปีนี้คาดว่าน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ เพราะฝนตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำตั้งแต่ต้นฤดู


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo04-1.jpg


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo09.jpg

 

อภัย เปิดเผยว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่กว่า 93 คน เริ่มปรับพื้นที่นากว่า 1,111 ไร่ของสมาชิกทั้งหมด เพื่อเตรียมปลูกข้าวนาปี เป็นข้าวเหนียว กข.6 และข้าวหอมมะลิ 105 และปีนี้วางแผนการผลิตไว้ว่า จะทำเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น เพราะได้ราคาดีกว่าท้องตลาด

 

“โดยปกติถ้าเป็นข้าวหอมมะลิ 105 โรงสีจะรับซื้อประมาณกิโลกรัมละ 14 บาท แต่ถ้าผลิตให้กรมการข้าวผ่านศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น จะได้ประมาณกิโลกรัมละ 19 บาท แต่ก็ต้องเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ซึ่งทางกลุ่มแปลงใหญ่จะแยกข้าวที่คุณภาพดีส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น โดยปีแรกทางกลุ่มได้ผลิตข้าวส่ง 27 ตัน อีกส่วนหนึ่งก็ขายให้กับโรงสี ยอมรับว่าราคาข้าวอาจจะไม่สูง เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกัน โดยข้าวเหนียว กข.6 ฤดูการผลิตปีที่แล้ว (2567) โรงสีรับซื้อกิโลกรัมละไม่เกิน 12 บาท ส่วนข้าวจ้าวไม่เกิน 14 บาท”


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo V02-1.jpg


ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ ยอมรับว่า ปัจจุบันราคาข้าวตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ยกตัวอย่าง เช่น มีที่นา 25 ไร่ ปลูกข้าวมิละ 105 และ ข้าวเหนียว กข.6 ขายได้ประมาณ 130,000 บาท หักต้นทุนออก ทั้งค่าไถรอบแรก ไถรอบสอง ค่าปั่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดวัชพืช ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ เกือบ 3,000 กว่าบาท รวมต้นทุนทั้งหมดอยู่ราวๆ 50,000-60,000 บาท จะได้กำไรประมาณ 70,000 เพราะไม่ได้เสียค่าเกี่ยว เนื่องจากมีรถเกี่ยวข้าวของกลุ่มแปลงใหญ่ ทำให้ลดต้นทุนระดับหนึ่ง

 

“แต่ถ้าหากเป็นชาวนาทั่วไปที่ไม่ได้มีการรวมกลุ่มกัน จะมีค่าใช้จ่ายเงินมากกว่านั้น ส่วนผลผลิตข้าวนาปีจะได้ไม่เยอะ 1 ไร่ เฉลี่ยอยู่ที่550 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่า ถ้าเป็นพื้นที่เนินจะนิยมปลูกข้าวหอมมะลิ ส่วนพื้นที่ลุ่มก็จะปลูกข้าวเหนียว กข.6 นี่คือที่มาว่าทำไมเกษตรกรถึงไม่ปลูกข้าวชนิดเดียวที่มีราคาสูง หักลบกลบหนี้ก็ไม่ได้ไม่เยอะ เพราะทำนาปีอย่างเดียว ถ้านำกำไรมาเฉลี่ยรายได้ต่อ 12 เดือน ได้แค่ 5,000 กว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น”


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo03.jpg


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo V01-1.jpg


ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ ยังสะท้อนปัญหาของชาวนาว่า ชาวนาปลูกข้าวแต่ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ต้องแล้วแต่โรงสี ส่วนใหญ่ก็มีการหักค่าความชื้น หรือค่าสิ่งเจอปนอื่นๆ ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับราคาข้าวที่ตกต่ำ บวกกับฟ้าฝนบางปีฝนดีบางปีฝนแล้ง ถ้าหากใกล้ชลประทานก็ดี แต่ส่วนใหญ่ยังห่างไกลชลประทาน ขณะที่นโยบายของรัฐบาลก็ไม่สนับสนุนเหมือนเดิม โดยเฉพาะการจ่ายค่าชดเชยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ แต่สมัยรัฐบาลก่อนได้ไร่ละ 1,000 ไม่เกิน 20 ไร่

 

“อีกปัญหาเกษตรกรชาวนาคือเรื่องหนี้สิน จนมีคำกล่าวที่ว่า ทำนาเยอะ ยิ่งเป็นหนี้เยอะ ถ้าไม่ทำนาก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะพื้นที่เหมาะกับการทำนามากที่สุด ถ้าถามว่าหนี้ชาวนามาจากไหน ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ที่ต่ำ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทั้งใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ บางส่วนก็กู้ ธ.ก.ส.มาปรับปรุงสภาพแปลงนาที่ต่างระดับ ให้ราบเรียบสูงเท่ากันจึงจะทำนาง่ายได้ผลผลิต กลายเป็นหนี้ซ้ำซาก อยากให้รัฐบาลหาทางแก้ปัญหาหนี้ชาวนา”


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo07.jpg

 

ขณะที่ อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่คลุกคลีกับเกษตรกรมานาน รู้ปัญหาทุกอย่าง ปัจจุบันที่ชาวนาจนลงทุกวัน เพราะต้องนำเงินที่ขายข้าวไปเติมเต็มปัจจัยการผลิต ทั้งจ้างไถ จ้างนวด จ้างหว่าน ตอนไถต้องใส่ปุ๋ยหนึ่งรอบ ตอนข้าวโตก็ใส่อีกหนึ่งรอบ ข้าวตั้งท้องใส่อีกรอบ เท่ากับว่าทำนาหนึ่งครั้งใส่ปุ๋ยไป 3 รอบ ถ้าลดเรื่องปุ๋ยได้ก็จะดี แต่พอย้อนมาดูประเทศคู่แข่ง ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่าไทย เช่นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมา ถ้าประเทศไทยสามารถลดปริมาณปุ๋ยเคมีได้ก็จะเป็นการลดต้นทุนไปด้วย อาจจะโตช้าหน่อย แต่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ยิ่งโลกอนาคตคนจะนิยมบริโภคข้าวที่ปลอดสารเคมี


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo01.jpg

 

“อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ชาวนาเป็นหนี้เป็นสิน เกิดจากการบริหารประเทศที่ไม่เข้าใจการผลิตข้าว  ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นทำไมเขาถึงใช้วิธีเพราะปลูกเป็นโซนนิ่ง ปลูกหมุนเวียนแต่ละพื้นที่ ระบบชลประทานเข้าถึง เพื่อไม่ให้ข้าวออกมาล้นตลาดพร้อมกัน ทำให้อำนาจการตลาดอยู่ที่ผู้ขายผู้ผลิต แต่ประเทศไทยอำนาจอยู่ที่ผู้ซื้อหรือนายทุน เพราะผลิตข้าวพร้อมกันทำให้ล้นตลาด สินค้าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของใช้ ผู้ผลิตเป็นคนกำหนดราคา แต่ราคาข้าวผู้ผลิตกำหนดราคาไม่ได้ วันนี้ชาวนาทำนาเท่าไหร่ก็จน มีแต่โรงสีรวย คนแปรรูปรวย ชาวนาไม่มียุ้งฉาง เกี่ยวเสร็จเข้าโรงสี โรงสีก็อ้างความชื้นสิ่งเจอปน ชาวนาถูกเอาเปรียบตั้งแต่ต้น”


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo05.jpg

 

อุบลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าถามว่าปีนี้เกษตรกรต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และผลผลิตข้าวที่ปีนี้อาจจะสูงขึ้น แต่รายได้กลับลดลง “เราพยามประชุมชี้แจงพูดคุยกับเกษตรกรทุกภาคให้ปรับตัวพยายามลดต้นทุน และเริ่มปฏิวัติตัวเอง ขณะเดียวกันทั้งเกษตรกรและภาครัฐต้องบูรณาการวางแผนทั้งการผลิต การตลาดใหม่ ทั้งระบบ หรือทำพิมพ์เขียวทั้งระบบในการทำนาจึงจะอยู่รอด ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะว่าไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ขาดคนที่มีมันสมองในการบริหารจัดการ การแก้ปัญหาจึงไม่ประสบความสำเร็จ”


เช่นเดียวกับ บัวพัตร์ พิเชฐพงศ์วิมุติ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโสกจาน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มองว่า  ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรทุกวันนี้คือปัญหาหนี้สิน อันเกิดจากราคาข้าวตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ฉะนั้นทางรอดต้องปรับเปลี่ยนการทำนาแบบเดิมมาทำนาอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และเน้นการแปรรูปมากขึ้น โดยวิสาหกิจชุมชนบ้านโสกจาน จะนำผลผลิตส่วนหนึ่งขาย และอีกส่วนหนึ่งนำมาแปรรูป โดยนำข้าวมาแปรรูปเป็นสบู่น้ำนมข้าว สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนข้าวที่นำไปขายก็จะแบ่งอีกส่วนหนึ่ง

 

“โดยปีนี้มีบริษัทจากกรุงเทพฯ ติดต่อมาซื้อข้าวอินทรีย์จากทางวิสาหกิจชุมชนบ้านโสกจาน ในราคากิโลกรัมละ 16 บาท ไม่หักความชื้น ไม่หักสิ่งเจอปน ให้ราคาสูงกว่าโรงสีที่รับซื้อในราคาเพียงกิโลกรัมละ 14-15 บาท เพราะเป็นข้าวคุณภาพดี อร่อย ทางกลุ่มจึงไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องราคาข้าว เพราะทำเอง จำหน่ายเอง และแปรรูปเอง”


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo02.jpg

 

ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโสกจาน กล่าวต่อว่า การปลูกข้าวอินทรีย์จะได้ผลผลิตน้อยกว่าข้าวนาปีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือสารเคมี แต่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำขึ้นมาเองแทน โดยผลผลิต 1ไร่ จะได้ประมาณ 400 กิโลกรัม และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันผลผลิตใกล้เคียงเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่ในระยะยาวคือมีความยั่งยืนกว่า ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์ ดินไม่แข็งจากการใช้ปุ๋ยเคมี และที่สำคัญข้าวเมล็ดใหญ่ หอมอร่อย การทำนาอินทรีย์คือทางรอดของเกษตรกรยุคนี้


Farmer-crisis-2025-Good-yields-but-low-rice-prices-SPACEBAR-Photo06-3.jpg


เรื่องเด่นประจำสัปดาห์