ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ทำให้เกษตรกรทางภาคกลางหลายจังหวัด ทยอยออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้เร่งปัญหา เช่นเดียวกับเกษตรกรภาคอีสาน แม้ยังไม่ตัดสินใจร่วมชุมนุม แต่ก็มีข้อเรียกร้องฝากไปยังให้รัฐบาลเช่นเดียวกัน
แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลจะออก 3 มาตรการในการช่วยเหลือชาวนา ได้แก่
1.สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน หากเกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง และได้ 1,000 บาทต่อตัน หากเก็บที่สหกรณ์ โดยสหกรณ์ได้ 500 บาทต่อตัน ต้องเก็บข้าวไว้ 1-5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน
2.ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต๊อกไว้ 2-6 เดือน และต้องซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด 200 บาทต่อตันขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน และ
3.เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการต้องรับซื้อข้าวสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท แต่ก็ทำให้ชาวนาหลายคนไม่พอใจ เพราะมองว่าน้อยเกินไป

ฉัตรนพวัฒน์ วีระศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการกลาง กลุ่มเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรภาคกลางหลายจังหวัด ที่ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวนาปรังตกต่ำ โดยเฉพาะการประกันราคาข้าวนาปรังที่ 10,000 บาท ถึง 12,000บาทต่อตัน และขอค่าชดเชยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไร่ละ 500 บาท พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีด้วยไร่ 1,000 บาท ด้วยเช่นกัน
เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลออก 3 มาตรการ ช่วยเหลือชาวนา เรื่องนี้ชาวนาภาคอีสานต้องคุยกันอีกครั้ง ว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ชาวนาภาคกลาง ได้ออกมาแสดงท่าทีแล้ว ว่ามาตรการ 3 อย่างของรัฐบาล เป็นการให้ที่เกษตรกรที่น้อยเกินไป ยังไม่พอกับต้นทุนทำนาที่เกิดขึ้น

ฉัตรนพวัฒน์ ยังเปรียบเทียบการปลูกข้าวนาปรัง และนาปี ว่า ข้าวนาปรังที่เกษตรกรปลูกส่วนใหญ่เป็น ‘ข้าวพื้นนุ่ม’ เป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศเวียดนาม จุดเด่น คือ อายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยเพียง 100 วัน ลักษณะพันธุ์กรรมจะต้นเตี้ย หากมีแหล่งน้ำสามารถทำการเพาะปลูกได้ 3 ครั้งต่อปี ผลผลิตประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่
ถ้าหากราคาเมื่อ 3 ปีก่อน จะอยู่ 9,000 บาทต่อตัน และราคาก็ลดลงมาอย่างเรื่อย โดยปีนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 7,000กว่าต่อตัน ข้าวชนิดนี้แม้จะราคาต่อตันไม่สูง แต่น้ำหนักดีมากหากเปรียบเทียบกับข้าวนาปี หรือที่ชาวนาเรียกว่า ‘ข้าวพื้นแข็ง’ ซึ่งได้แก่ข้าวเหนียว กข.6 ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 500 กก.ต่อไร่ ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำ และวิธีปลูก ถ้าทำนาหว่านจะได้ประมาณ 500 กก.ต่อไร่ แต่หากเป็นนาหยอด 600 กก.ต่อไร่ ถ้านาดำ 530 กก.ต่อไร่ ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 ผลผลิตจะอยู่ที่ 400 กก.ต่อไร่ ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์เป็นข้าวไทย ปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้น

“ส่วนการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ที่ผ่านมาก็แตกต่างกันสุดแล้วแต่นโยบายของรัฐบาล และคณะกรรมบริหารนโยบายข้าวแห่งชาติ(นบข.) บางรัฐบาลใช้วิธีจำนำข้าว บางรัฐบาลประกันราคาข้าว แต่ในบางประเทศที่เจริญแล้วเขาจะใช้วิธีซื้อนำตลาด โดยนำเงินมารวบรวมกับองค์กรเกษตรกร ไม่ได้อยู่กับผู้ประกอบการ วันนี้อยากให้ทบทวนว่า องค์กรเกษตรกรที่มีขีดความสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้ ให้รัฐเปิดประตูบานใหม่ สามารถให้เป็นผู้ส่งออกข้าวได้ แม้จะเป็นรายเล็กๆ ก็ตาม เพราะโลกทุกวันนี้ เสรีนิยม ทุนนิยม ต้องเปิดโอกาสให้เสมอภาคและเท่าเทียม”
ฉัตรนพวัฒน์ กล่าว

ฉัตรนพวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า หากย้อนไปดูกฎหมายจะเห็นว่า พระราชบัญญัติการค้าข้าวปี 2489 แม้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน ทำการค้าขายข้าวทั้งในและต่างประเทศอย่างเสมอภาค และเที่ยงธรรม แต่องค์กรการเกษตรส่วนใหญ่มีหนี้สิน รัฐบาลต้องมาร่วมมือกันปรับให้ทันยุคสมัย ซึ่งปลายปี 2567 นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้นโยบายว่าจะส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมาชน สามารถส่งออกข้าวเองได้ ซึ่งเรื่องนี้เกษตรกรก็จับตามองหลายกลุ่มว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน หลักเกณฑ์ต่างๆ เอื้อให้กับกลุ่มเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน

เช่นเดียวกับ วิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง ประธานวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เปิดเผยด้วยว่า นโยบายการผลักให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถส่งออกข้าวเองได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของกลุ่ม เพราะที่ผ่านมาทางกลุ่มก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด เชื่อว่าผลผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีสมาชิกว่า 2,000 ครัวเรือน มีศักยภาพพอที่จะส่งออกได้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ105 บ้านเราคุณภาพดีมาก ต่างชาติอยากรับทานข้าวมะลิแท้ๆ แต่หาไม่ได้ ถ้าระหว่างผู้ค้าและผู้ขายส่งออกได้ เชื่อว่าเกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้
“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่ใช่เฉพาะการผลักดันให้เกษตรกรส่งออกข้าวเองได้ และหลายอย่างรัฐบาลยังทำไม่เสร็จ ยอมรับว่าที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม แต่เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน กลับไม่ยอมให้เกษตรกร พวกผมเคยขอ หนึ่งโรงงานหนึ่งชุมชนต้นแบบ ก็ไม่เคยได้ ถ้าหากชุมชนของเรามีโรงสีสักแห่งที่ได้มาตรฐาน ก็สามารถสีข้าว ขายสินค้าออกได้ ทั้งแกลบและรำ ก็นำไปขายอีกได้ แต่ปัจจุบันเกษตรกรต้องไปสีข้าวกับโรงสี ได้เฉพาะข้าวอย่างเดียว ส่วนแกลบ ส่วนรำ เป็นของโรงสีหมด โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนของตนเอง ขอโรงสีไว้ 3 ปี แต่ก็ไม่ได้”
วิรัตน์ กล่าว

วิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง เปิดเผยอีกว่า อย่าว่าแต่จะส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศเลย แม้แต่ในประเทศก็ทำยาก สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ถ้าไม่มีเครือข่ายมีเส้นมีสาย เพราะตนเองเคยทำมาแล้ว ทั้งที่ข้าวในกลุ่มของตนเองเป็นข้าวมีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐานยังขายไม่ได้เลย เคยไปนำเสนอขายตามโรงพยาบาล โรงเรียน หน่วยงานราชการต่างๆ แต่ขายไม่ได้เพราะหน่วยงานเหล่านั้นมีคู่ค้าที่ทำสัญญาไว้หมดแล้ว เกษตรกรจะเอาอะไรไปสู้กับเขา ถ้ารัฐบาลจะช่วยจริงๆ ให้กำหนดมาเลยว่าอยากได้ข้าวมาตรฐานแบบไหน เชื่อว่าเกษตรกรสามารถทำให้ดีและมีจุดรับซื้ออย่างชัดเจน อย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง ที่ผ่านมาเวลามีนโยบายก็เรียกเกษตรกรไปเตรียมความพร้อม สุดท้ายก็ไม่คืบหน้า ไม่ต่างจากผักชีโรยหน้า

การทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นำโดยวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง ไม่ได้พึ่งพาหน่วยงานราชการอย่างเดียว แต่ยังหาภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยส่งเสริมทั้งเรื่องการผลิต การตลาด โดยมี กานต์ธีรา ว่องไว ปธ.วิสาหกิจชุมชนผาสุก จ.อุดรธานี ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาด และผลิตสื่อด้วย
ด้าน กานต์ธีรา ว่องไว ประธานวิสาหกิจชุมชนผาสุก จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นำโดยวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง เป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง มีสมาชิกเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์กว่า 2,000 ครัวเรือน มาทำมานานกว่า 30 ปี โดยปีนี้จะมีการวางแผนการตลาดร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเอาตลาดเป็นตัวนำ

“เราเชื่อว่าถ้าสินค้ามีมาตรฐาน เกรดออร์แกนิก จะสามารถจำหน่วยให้กลุ่มลูกค้าได้ โดยตั้งเป้าวิสาหกิจชุมแห่งนี้จะเป็นโรงงานต้นแบบ ซึ่งจะต้องสร้างแบรนด์ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้ผ่านทางออนไลน์และอ๊อฟไลน์ โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ซึ่งเป็นจุดแข็งของที่นี่ ต้นเดือนมีนาคมนี้จะลงมือปฏิบัติ เพื่อรองรับโอกาสการส่งข้าวไปต่างประเทศ พร้อมมีเกษตรกรไม่น้อยที่ให้ความสนใจ”
กานต์ธีรา กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติการค้าข้าวฉบับใหม่ (ฉบับที่154 พ.ศ.2568 ข้อที่18 (1)) ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ส่งออก มีคุณสมบัติ ต้องเป็นบริษัทจำกัด, บริษัทจำกัดมหาชน, รัฐวิสาหกิจ, สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร,ที่มีความต้องการในการค้าข้าวไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยต้องมีข้าวเป็นกรรมสิทธิ์(สต็อกข้าว) ของตนเองไม่น้อยกว่า 100 ตัน สำหรับบริษัททีมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านบาท, 500 ตัน สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 20 ล้านบาท และ 1,000 ตัน สำหรับบริษัทซึ่งมีทุนจดทะเบียนเกิน 20 ล้านบาทขึ้นไป

ส่วนกรณีที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีสต็อกข้าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย ผ่าน ครม.เรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 2568 นี้
อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายฉบับแก้ไขดังกล่าวบังคับใช้ เชื่อว่าบรรยากาศการซื้อขายข้าวจะคึกคัก และเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่ประเด็นสำคัญเรื่องมาตรฐาน เพราะต้นทุนการผลิตข้าวของไทยมีต้นทุนสูง หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย ซึ่งข้าวหอมมะลิ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศสหกรัฐฯ แคนนาดา จีน ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดที่มีรายได้สูง แต่ถ้าเป็นข้าวขาว จะส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อาหรับ ส่วนข้าวนึ่ง ส่วนใหญ่จะส่งไปประเทศแอฟริกาใต้
สำหรับการส่งออกข้าวของไทย ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ชี้ตัวเลข การส่งออกข้าวเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 มีปริมาณ 9,945,323 ตัน มูลค่า 225,655.57 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 13.4% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 26.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่มีการส่งออกปริมาณ 8,769,044 ตัน มูลค่า 178,234.8 ล้านบาท โดยปี2568 ประเทศต้องต่อสู้กับคู่แข่งหลายด้าน โดยเฉพาะอินเดียปีนี้จะส่งออกข้าวเต็มรูปแบบ
