เอกชน ตอกย้ำ 3 ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ หลังเผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่พบ ยังลดต่อเนื่อง ระบุ แม้จะลดเล็กน้อยจาก 90.6 ในเดือนมกราคม มาเหลือ 90.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ส่งผลต้นทุน และรวมถึงการใช้จ่าย-บริโภค ลด ส่ง 3 ข้อเสนอแนะ อีกครั้ง ประกอบด้วย
1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว
2. เสนอให้ภาครัฐต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567
3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วน การจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ พิตติพัตน์ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งร่วมกันเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ชี้ชัด หนี้ครัวเรือน ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
ขณะที่ด้านการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทยโดยเฉพาะตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยลดลง ขณะที่ต้นทุนด้านราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีปัจจัยบวก กับเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลจากมาตรการยกเว้นวีซ่าฟรี (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ (ช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567) และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ

เช็กข้อกังวลผู้ประกอบการ
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,316 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่
- เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 85.1
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 74.3
- ราคาน้ำมัน ร้อยละ 53.7
- เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 48.5
ด้านปัจจัยที่มีความกังวลลดลงแล้ว เช่น อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 38.0 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 31.2 ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 98.4 ในเดือนมกราคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในภาคเกษตรและปริมาณน้ำในภาคอุตสาหกรรม