รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต แสดงความกังวลหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยในช่วง พ.ค.-ส.ค. 2568 โดยระบุว่า รู้สึกเสียดายที่ประเทศไทยต้องเสียโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขัน และยังคงภาระค่าไฟแพงให้กับประชาชน
แม้ภาคเอกชนจะเสนอแนวทางลดค่าไฟลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย แต่ข้อเสนอกลับไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง จะเห็นว่าการทำงานระหว่างนโยบายภาครัฐกับ กกพ. ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทำให้การดำเนินงานที่ไม่สอดประสานกัน ไม่มีการตกผลึกความคิดและแนวทางเพื่อประชาชนร่วมกันอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟในอัตราเดิมต่อไปอีก 4 เดือน ท่ามกลางอากาศร้อนที่ผลักดันการใช้ไฟฟ้าให้สูงขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 เดือนก่อน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เคยประกาศว่าจะลดค่าไฟลง 40 สตางค์ต่อหน่วย แต่จนถึงวันนี้ การลดค่าไฟครั้งใหญ่นั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง
ในเดือน ก.ย. 2567 นายพีระพันธุ์สั่ง กกพ.ให้ชะลอแผนลดค่าไฟ 17 สตางค์ต่อหน่วย โดยให้เหตุผลว่าแนวทางที่เขาจะดำเนินการสามารถลดค่าไฟได้มากกว่าแนวทางของ กกพ. โดยใช้วิธีการปรับพอร์ต Pool Gas ซึ่งหมายถึงการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ทั้งจาก ก๊าซอ่าวไทย ก๊าซจากเมียนมา และ LNG นำเข้าที่มีราคาผันผวนสูง แต่จนถึงปัจจุบัน แนวทางดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน
การตรึงค่าไฟที่ 4.15 บาทต่อหน่วย จึงเป็นการสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในนโยบายพลังงานของประเทศ