น้ำท่วม-น้ำแล้ง จัดการอย่างไร ราคาสินค้าไม่เพิ่ม

3 ต.ค. 2566 - 03:50

  • มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน.-ส.อ.ท. จับมือชวนภาคอุตฯ ‘บริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่’

  • ชี้ เมื่อไทยยั่งยืน มีน้ำใช้ในภาคการผลิต ทั้งในการเกษตรและอุตสาหกรรม ผลกระทบด้านผลผลิต ที่ดันราคาสินค้าเพิ่ม จะไม่เกิด

Fti-sustainability-Expo-2023-SX2023-global-boiling-SPACEBAR-Hero.jpg

‘น้ำ’ ปัจจัยสำคัญในภาคการผลิตทั้ง sector เกษตร และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะช่วงนี้ ซึ่งกำลังมีปัญหา ‘โลกเดือด’ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการเพื่อรับมืออย่างไรบ้าง? เราจึงได้เห็นการลงนามความร่วมมือ ‘การบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่’ ระหว่าง ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อร่วมบริหารจัดการ และทำให้ผลกระทบภาวะโลกร้อน กระทบภาคเกษตร อุตสาหกรรม น้อยที่สุด งานนี้จึงมีเวทีเสวนาความรู้ที่น่าสนใจ 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าว ในเวทีเสวนา “Action Together for a Better Thailand : เทิด ด้วย ทำ ประเทศไทย ยั่งยืน” ภายในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชี้ถึงภาวะโลกร้อน ว่า ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ต้องร่วมมือกันดำเนินตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นต่อไป โดยนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติจนเห็นความสำเร็จ  

ทั้งนี้ การบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่ผ่านมาทำให้เกิดพื้นที่ตัวอย่างเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริแล้ว 26 แห่ง นับเป็นความสำเร็จที่ชุมชนดำเนินงานจากล่างขึ้นบน แก้ปัญหาพื้นที่แบบพึ่งตนเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ จากเขาหัวโล้นเป็นวนเกษตร และปัจจุบัน มีน้ำกิน น้ำใช้ตลอดปี

ขณะที่ในความร่วมมือครั้งนี้ เป็นเพราะการเล็งเห็นถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำของประเทศในปัจจุบัน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยทั้ง 3 หน่วยงาน จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดเสถียรภาพและมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม  

ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินงานให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน พัฒนา และประยุกต์ใช้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากร เครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลด้านน้ำให้ครอบคลุมครบถ้วนทุกมิติ

รวมไปถึงส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของ สสน. รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ต่อไป 

งานนี้ ยังมีเสวนาในหัวข้อ “Global Boiling! Working Together 2 Better ESG” โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรม เข้าร่วม ซึ่ง วิชัย อัศรัสกร ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เผยว่า ความสำเร็จของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ของ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมที่จะสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ที่จะขยายผลความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหลังจากนี้   

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ครั้งนี้ จะร่วมพัฒนาฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้งได้ชักชวนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมกันลงมือทำเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ เมื่อการบริหารจัดการน้ำดี ผลกระทบน้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่ทำให้สินค้าขาดตลาดและมีราคาแพง จะไม่เกิดขึ้น 

ขณะที่ ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้เชิญชวนภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มาร่วมกันดำเนินงานตามแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อส่งมอบโลกน่าอยู่และยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป ซึ่ง SCG เป็นตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ลงมือทำแล้ว และขอเชิญเพื่อนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมลงมือทำไปด้วยกัน 

ข่าวน่าสนใจ

ดิจิทัลวอลเล็ต คณะกรรมการฯ ชัดเจนแน่

7 ตุลา จิสด้าชวนดู วินาทีส่งจรวดพา ธีออส 2 ส่องโลก

หนี้เสียจากโควิดน่าเป็นห่วง เงินค้างจ่ายสูงกว่า เกือบ 4 แสนล้านบาท

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์