เจาะไส้ใน เฉพาะหนี้ Personal Loan 3.18 บัญชี เกือบ 9.2 หมื่นล้านบาท บ้านราว 5 หมื่นหลัง มูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนรถยนต์ 8.5 หมื่นคัน 3.7 หมื่นล้านบาท
ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร สุรพล โอภาสเสถียร เปิดเผยถึง ยอดตัวเลขหนี้เสียจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า รหัส 21 ล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีรวมกันสูงถึง 5.04 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวมกันสูงถึง 3.82 แสนล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่มียอดบัญชี 4.94 ล้านบัญชี มูลค่า 3.74 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงราว 1 แสนบัญชี หรือเพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียงสองเดือนที่ผ่านมา
ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าหนี้เสียในกลุ่มนี้ ซึ่งเดิมอาจจะเป็นลูกหนี้ที่ดี แต่โดยผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์ระบาดของโควิด -19 เมื่อสองปีที่แล้ว ยังคงไม่สามารถฟื้นตัว และอาการกลับทรุดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนตกไปสู่ภาวะหนี้เสีย คือ ค้างชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน
ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่า เกิดอาการไหลจากลูกหนี้ปกติ ที่เริ่มค้างชำระยอมปล่อยให้เป็นหนี้เสีย ไม่จ่ายต้นหรือดอกเบี้ย เพราะต้องการจะได้รับประโยชน์จากการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่อาจจะมีโครงการพักหนี้ 3 ปี
ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร จึงเสนอว่า รัฐบาลต้องเร่งพิจารณา และประกาศออกมาให้ชัดเจนว่า จะเปิดให้คนที่เป็นหนี้เสียจาก โควิด-19 หรือ รหัส 21 ที่เป็นหนี้เสียก่อนวันเวลาไหน ที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ เพราะหากไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็ว ก็อาจจะเกิดอาการไหลของ หนี้เสีย ของลูกหนี้ในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงภาระการคลัง ที่รัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกัน หากดูในรายละเอียด จะพบว่า จนถึงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา มีหนี้เสียรหัส 21 จากสินเชื่อเพื่อบริโภค หรือ Personal Loan จำนวนสูงถึง 3,181,872บัญชี มูลค่ากว่า 91,900 ล้านบาท
