กมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เผยทิศทางการดำเนินงานของธนาคารในปี 2568 และแผนดำเนินงานโครงการ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ว่า ธอส.พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการทำให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพราะความเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) และมีพันธกิจสำคัญคือ ‘ทำให้คนไทย มีบ้าน’ ดังนั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จึงเป็นมือไม้ที่สำคัญในการดำเนินโครงการ บ้านเพื่อคนไทย’ ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีดำริ และแถลงว่า เป็นโครงการที่จะเกิดขึ้น ในปี 2568 นี้
ธอส. พร้อมลุย ‘บ้านเพื่อคนไทย’
‘กรรมการผู้จัดการ ธอส.’ ระบุว่า ในปี 2568 ธนาคารมีแผนดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในการสนับสนุนคนไทยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และขับเคลื่อน องค์กรสู่ความยั่งยืน ด้วยการเป็นที่ 1 ของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนของโครงการ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ (Public Housing) นั้น ธอส.พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยโครงการดังกล่าวจะใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เป็น ทำเลที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งห้องชุดและทาวน์โฮม เพื่อสนับสนุนให้คนไทยที่มีรายได้น้อย และผู้เริ่มต้นทำงาน (First Jobber) ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พักอาศัยในระยะยาว
เบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะมีความใกล้เคียงกับโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ บนพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่เคยทำไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีระยะเวลาการกู้จะเป็น 30 ปี บวก 30 ปี ซึ่ง ธอส.พร้อมจะสนับสนุนแหล่งสินเชื่อ ดอกเบี้ยถูกที่จะอยู่ราว 3-4% ต่อปี เพื่อให้ผู้ได้สิทธิสามารถผ่อนได้ที่เดือนละ 4,000 บาทตามนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ดี รายละเอียด เงื่อนไขโครงการ และคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วม รัฐบาลจะมีการกำหนดความชัดเจนอีกครั้ง
“ธอส.พร้อมที่จะทำตามนโยบายของโครงการ ซึ่งหากประชาชนได้สิทธิผ่านเงื่อนไขโครงการแล้ว ทาง ธอส.สามารถให้กู้ได้ อย่างไรก็ดี คาดว่าโครงการบ้านเพื่อคนไทยน่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 16 เดือน เนื่องจากเป็นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้ง ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการต้องมีประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ด้วย”
สินเชื่อปี’67 ชะลอตามภาวะ
‘กมลภพ’ กล่าวว่า สำหรับผลดำเนินงาน ปี 2567 ธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ ได้ราว 230,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงปัจจุบัน (ณ 4 ธ.ค.) ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่แล้วกว่า 200,856 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 155,536 บัญชี โดยในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท สูงถึง 95,125 ราย สะท้อนว่า ธอส.เป็นธนาคารที่ตอบโจทย์ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ธอส.มีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.78 ล้านล้านบาท ให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายและตรงตามความต้องการของลูกค้า อาทิ สินเชื่อบ้าน 71 ปี ธอส., โครงการสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ. 2567, มาตรการสินเชื่อซื้อ-สร้าง และมาตรการสินเชื่อซ่อม-แต่ง
ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนปี 2567 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผล กระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านรายได้ให้กับลูกค้านั้น ปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการรวม 114,101 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 133,255.49 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็น ส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาบ้านให้คนไทย และทำให้เอ็นพีแอลของ ธอส.อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“เราคาดการณ์ทั้งปี 2567 ว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 230,000 ล้านบาท ลดลง 13% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจและภาวะของ ภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี แม้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อจะชะลอตัวลง แต่ธนาคารมีส่วนแบ่งการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นมากเป็นกว่า 40%”
ปักธงปล่อยกู้ใหม่ 2.5 แสนล้าน
ส่วนทิศทางการดำเนินงานในปีหน้า ‘กมลภพ’ กล่าวว่า ธอส.ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2568 ไว้ประมาณ 240,000-250,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นการเติบโต 3% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะปล่อยได้ราว 230,000 ล้านบาท โดยการเติบโตปีหน้าจะดำเนินการผ่านการให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเงินงวดในการผ่อนชำระจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม สำหรับผู้มี รายได้น้อยและปานกลาง และการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประจำ-อาชีพ อิสระที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาท/เดือน
‘คุณสู้ เราช่วย’ ช่วยลด NPL
‘กมลภพ’ กล่าวอีกว่า ธอส.ร่วมดำเนินโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ซึ่งประเมินว่าจะมีลูกค้าที่เข้าเงื่อนไขโครงการนี้รวม 349,000 บัญชี ยอดหนี้ รวม 313,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลูกค้าประหยัดดอกเบี้ยได้ราว 16,900 ล้านบาท/ปี
โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่แสดงความ สนใจเข้ามาแล้ว 6,600 บัญชี ซึ่งโครงการดังกล่าว ธอส.จะเข้าไปรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 8,400 ล้านบาท และรัฐบาลจะรับผิดชอบอีกครึ่งหนึ่ง โดยดำเนินการภายใต้มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยลดหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลงได้ โดยคาดว่าปีหน้า NPL ของ ธอส.จะลดลงมาอยู่ที่ราว 5% ได้
ทั้งนี้ ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะทำให้ ธอส.มีรายได้จากดอกเบี้ยลดไปบ้าง แต่ในทางกลับกัน จะช่วยให้ภาระหนี้เสียและการตั้งสำรองหนี้ ลดลงไปด้วย ซึ่งเดิมธนาคารวางเป้าว่าจะมีการตั้งสำรองในปี 2568 ประมาณ 8,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเงินชดเชยดอกเบี้ย แต่หาก NPL ลดลง เงินตั้งสำรองก็คงไม่ถึงยอดที่ตั้งใจไว้
“ปีหน้าสถานการณ์เอ็นพีแอลน่าจะดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันหนี้เอ็นพีแอล ของเราเริ่มมีแนวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.17% ปัจจุบันปรับลดลงเหลือ 5.50% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และคาดว่ามาตรการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ น่าจะช่วยให้สถานการณ์ลูกหนี้ดีขึ้น และคาดว่าปี 2568 เอ็นพีแอลจะปรับตัวลดลง”
กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าว