นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการ Easy e-Receipt เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศซื้อสินค้าและบริการเพื่อลดหย่อนภาษี ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า (24 ธ.ค. 67) สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขมาตรการจะใช้หลักเกณฑ์เดิม สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท สำหรับปีภาษี 2568 ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานเดือน ม.ค. 2568
สำหรับ Easy e-Receipt เป็นมาตรการลดหย่อนภาษี ที่ให้สิทธิประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน สามารถนำค่าใช้จ่าย ค่าซื้อสินค้า และบริการภายในประเทศมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยมีรายละเอียดเงื่อนไขเดิมดังนี้
เงื่อนไขรับสิทธิ Easy e-Receipt ได้แก่
1. ลดหย่อนภาษีได้ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือน มกราคม 2568
2. ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในฐานระบบภาษี ที่สามารถออกใบกำกับภาษีในรูปอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
3. นำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
ทั้งนี้ จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ตามมาตรการมีการกำหนดสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
- ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
- ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
สิทธิประโยชน์
- หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในปี 2568 (ยื่นแบบต้นปี’69) ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
- ซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ต่อไปนี้
(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่าซื้อยาสูบ
(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
(4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ก็ตาม
(6) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by e-Mail