ค่ายรถญี่ปุ่น ลด-แลก-แจก-แถม สู้กลับ EV จีน ซื้อเวลาพัฒนา EV หรือยื้อเวลาสิ้นใจ

8 มีนาคม 2567 - 00:12

spacebar สเปซบาร์, Toyota, โตโยต้า, Honda, ฮอนด้า, Suzuki, ซูซูกิ, Mitsubishi, มิตซุบิชิ BYD, บีวายดี, Aion, MG, Changan, GWM, MotorExpo, MotorShow, EV, รถยนต์ไฟฟ้า, ค่ายรถจีน, ค่ายรถญี่ปุ่น
  • ค่ายรถญี่ปุ่นลงมาทำ ‘สงครามราคา’ หลังรถ BEV จากค่ายรถจีนรุกตีกินส่วนแบ่งตลาด

ดูเหมือนเวลานี้การทำ ‘สงครามราคา’ จะเป็น #ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ของค่ายรถญี่ปุ่นในประเทศไทย (รวมถึงทั่วโลก)

เมื่อ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเฉพาะรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง BEV (Battery Electric Vehicle) จากค่ายรถจีนรุกตีกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขยอดขายที่ลดลง ส่งผลให้รายได้หดตัว กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ผู้บริหารที่ต้องรักษารายได้และสร้าง growth ให้ธุรกิจ จึงต้องตอบคำถามบอร์ดบริหาร-ผู้ถือหุ้น และหาทางแก้เกม

แต่ดูเหมือนว่า ผู้บริหารค่ายรถญี่ปุ่นจะไม่มีวิธีไหนนอกจากอัดโปรโมชั่น ลด-แลก-แจก-แถม

ค่ายผู้นำอย่างโตโยต้า (Toyota) ฮอนด้า (Honda) และค่ายอื่นๆ ยังคงโหมโปรโมชั่นเป็นหลักแสนบาทต่อคัน งบการตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรบางลง แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อหล่อเลี้ยงดีลเลอร์ และรักษากำลังการผลิตของโรงงานให้ยังคงเดินเครื่องต่อเนื่อง

ล่าสุด (4 มีนาคม) ซูซูกิ (Suzuki) ออกโปรจัดหนัก (โหดเหมือนโกรธค่ายรถจีน) ถึงสิ้นมีนาคมนี้ รับฤดูมอเตอร์โชว์ ด้วยการปรับลดราคารถ 2 รุ่น ได้แก่

  • Suzuki Ciaz สูงสุด 150,000 บาท (ราคา 528,000 ลดเหลือ 378,000 บาท)
  • Suzuki XL7 สูงสุด 80,000 บาท (ราคา 814,000 ลดเหลือ 734,000 บาท)

พร้อมข้อเสนอพิเศษ

  • ขับฟรี 90 วัน
  • พนักงานเงินเดือนประจำ และลูกค้าข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ รับดอกเบี้ยพิเศษ
  • ฟรี ประกันภัยชั้นหนึ่งปีแรก, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ระยะเวลา 3 ปี
japanese-car-company-promotion-fightback-china-EV-SPACEBAR-Photo01.jpg
japanese-car-company-promotion-fightback-china-EV-SPACEBAR-Photo02.jpg

ถ้าเป็นมวย ตอนนี้ค่ายญี่ปุ่นที่ขาย ‘รถน้ำมัน’ เป็นหลัก กำลังถูกต้อนจนมุม เพราะไม่มีโปรดักส์ใหม่ออกมาสู้ EV จากค่ายรถจีนที่สเปคดี ราคาเซ็กซี่ และข้อเสนอใจป้ำกว่าเมื่อเทียบในกลุ่มรถเดียวกัน แถมยังมีมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าจากรัฐบาลอย่าง มาตรการ EV 3.0 และ มาตรการ EV 3.5 คอยหนุน

มาตรการสนับสนุน EV ทั้ง 2 ระยะข้างต้น เป็นการจูงใจให้เกิดอุปสงค์ (demand) และ อุปทาน (supply) ให้ประชาชนอยากซื้อ และผู้ผลิตอยากขาย-สร้างฐานการผลิตในประเทศ

“มาตรการ EV 3.0 เริ่มเห็นผลที่ชัดเจนแล้ว”

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินจากสถานการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา หลังค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการฯ เริ่มเดินสายการผลิต EV ในไทย และกระแสรถ BEV เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ก้าวกระโดดแค่ไหน?

ยอดขายในช่วงไฮไลท์งานขายรถยนต์ประจำปีอย่าง Motor Show และ Motor Expo ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565-2566) คือหลักฐานที่ยืนยันถึงข้อเท็จจริงนี้ได้ดี และตัวเลขชุดเดียวกันนี้เช่นกันที่สร้างความหวาดหวั่นใจให้ผู้บริหารค่ายรถญี่ปุ่น จนต้องยอมเฉือนกำไรลงมาทำสงครามราคา

spacebar สเปซบาร์, Toyota, โตโยต้า, Honda, ฮอนด้า, Suzuki, ซูซูกิ, Mitsubishi, มิตซุบิชิ BYD, บีวายดี, Aion, MG, Changan, GWM, MotorExpo, MotorShow, EV, รถยนต์ไฟฟ้า, ค่ายรถจีน, ค่ายรถญี่ปุ่น

หากเทียบตามไทม์ไลน์ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ EV 3.0 เมื่อกลางปี พ.ศ.2565 จะเห็นว่า มีผลต่อยอดขาย EV ของค่ายรถจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และปิดท้ายปี 2566 ไปแบบ ‘แฮปปี้นิวเยียร์’ ด้วยยอดขายรวม (10 อันดับแรกค่ายรถขายดี) ใน Motor Expo แซงค่ายรถญี่ปุ่น

กระแส Google Trends ย้อนหลัง 5 ปี ชี้ชัดว่า ช่วงเวลาที่เริ่มมีการพูดถึง มาตรการ EV 3.0 ของรัฐบาล คือช่วงเวลาเดียวกับที่กระแส EV เริ่มร้อนแรงในสังคมไทย ก่อนจะมีแนวโน้มที่ตื่นตัวและสูงขึ้นในเวลาต่อมา

spacebar สเปซบาร์, Toyota, โตโยต้า, Honda, ฮอนด้า, Suzuki, ซูซูกิ, Mitsubishi, มิตซุบิชิ BYD, บีวายดี, Aion, MG, Changan, GWM, MotorExpo, MotorShow, EV, รถยนต์ไฟฟ้า, ค่ายรถจีน, ค่ายรถญี่ปุ่น
Photo: ชีพจรความสนใจ (Interest over time) เรื่อง EV และ รถยนต์ไฟฟ้า บน Google Trends ในประเทศไทย เริ่มสูงขึ้นหลังรัฐบาลเริ่มประกาศสนับสนุน EV

ค่ายรถญี่ปุ่นจะพลิกเกมได้หรือไม่ ยังเร็วไปที่จะตั้งคำถาม เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือ ระหว่างที่ค่ายรถญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสายพานการผลิต ทั้งแรงงาน เทคโนโลยี และความรู้ไปสู่ EV พวกเขาจะรักษาตัวไม่ให้บอบช้ำเกินไปได้อย่างไร

เพราะถ้ามองในภาพใหญ่ระดับโลก นับตั้งแต่ปี 2020 ที่เป็น ‘จุดตัด’ ระหว่างผู้ผลิตรถจากจีนและญี่ปุ่น ณ ปีนั้น จีนมียอดผลิตรถทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มลดลง

spacebar สเปซบาร์, Toyota, โตโยต้า, Honda, ฮอนด้า, Suzuki, ซูซูกิ, Mitsubishi, มิตซุบิชิ BYD, บีวายดี, Aion, MG, Changan, GWM, MotorExpo, MotorShow, EV, รถยนต์ไฟฟ้า, ค่ายรถจีน, ค่ายรถญี่ปุ่น

ยอดผลิตรถยนต์ ปี 2022 (ยอดผลิตทั้งหมด 85,016,728 คัน) 

  • จีนผลิตรถยนต์มากที่สุดในโลก 27,020,615 คัน คิดเป็น 31% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกทั้งปี
  • ขณะที่ปีนั้น ญี่ปุ่นผลิตรถยนต์อยู่ที่ 7,835,519 คัน คิดเป็น 9.21% ถูกจีนทิ้งห่างมากกว่า 3 เท่าตัว

สัจธรรมของโลกธุรกิจคือ ตลาดทุกตลาดมี ‘ขนาด’ ของมัน โดยคนนิยมเปรียบเทียบขนาดของตลาดเป็น ‘ก้อนเค้ก’ และทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของโลกและธุรกิจ จะมีการสลับสับเปลี่ยนของคนที่ร่วมโต๊ะกินเค้กก้อนนั้น

คนที่เคยกินเยอะสุด อาจได้ส่วนแบ่งน้อยลง คนที่กินในลำดับรองลงมา อาจได้ส่วนแบ่งไม่มากเหมือนก่อน และบางคนอาจถูกถีบตกเก้าอี้ และแทนที่ด้วยผู้มาใหม่

คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้มาใหม่อย่างค่ายรถจีนที่เข้ามาร่วมโต๊ะแบ่งเค้กก้อนนี้ด้วยข้อเสนอพิเศษจากเจ้าภาพ อาจทำให้คนร่วมโต๊ะเดิมบางคนต้องหายไปจากวงกินเค้ก

เพราะข้อเสนอพิเศษอย่างมาตรการสนับสนุน EV ทั้ง 2 ระยะ นอกจากจะช่วยบูสต์ยอดขายรถ EV จากค่ายจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแล้ว อีกด้านคือการให้ผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้อง ‘ผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า’

อัตราส่วนการนำเข้า : การผลิตในประเทศ  

มาตรการ EV 3.0 

  • 1 : 1 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567
  • 1 : 1.5 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1.5 คัน) ภายในปี 2568

มาตรการ EV 3.5 

  • 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) ภายในปี 2569
  • 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) ภายในปี 2570

ซึ่งจุดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ค่ายรถจีนได้ส่วนแบ่งเค้กเพิ่มขึ้นมหาศาล (ถ้าค่ายรถญี่ปุ่นยังไม่เร่งปรับตัวไปสู่ EV) เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่ำลง เมื่อต้นทุนลดลง ราคาขายก็ถูกลง คนเข้าถึงได้มากขึ้น และเมื่อจำนวนคนมากพอ ตลาด EV ก็จะเกิด ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็จะเติบโตตามมา

สมรภูมิรถยนต์จากโลกเก่าและโลกใหม่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในเกมที่ไม่มีใครอยากแพ้ รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพที่เป็นตัวกลางของผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติ จะจัดสรรข้อเสนอพิเศษอย่างไร เพื่อรักษาน้ำใจคนร่วมโต๊ะหน้าเก่าและหน้าใหม่ ให้ทุกฝ่าย วิน-วิน

แต่อย่าลืมว่า ทุกการเปลี่ยนแปลง มีคนได้ คนเสีย และคนที่ต้องออกจากเกม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์